นักวิทยาศาสตร์กังวล "น้ำแข็งขั้วโลก" ละลายเร็ว

นักวิทยาศาสตร์กังวล "น้ำแข็งขั้วโลก" ละลายเร็ว

สรุปข่าว

ทุกสองปี บรรดานักวิจัยจากสถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์ (Alfred Wegener Institute) ของเยอรมนี เดินทางไปยังทะเลอาร์กติก (Arctic Sea) พร้อมกับเรือวิจัย “โพลาร์สเทิร์น” เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในสภาพแวดล้อมอาร์กติกและผลพวงที่ตามมาสำหรับชีวิตทั้งบนและใต้น้ำแข็งในทะเลที่ลดน้อยลง


อันต์เจ โบติอุส นักชีววิทยาทางทะเลและประธานสถาบันอัลเฟรด เวเกเนอร์ คาดว่า อาร์กติก หรือขั้วโลกเหนือ ที่ปราศจากน้ำแข็งอาจเกิดขึ้นได้ภายในชั่วอายุคน


ไม่กี่วันก่อนการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP 28 ในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โบติอุส กล่าวว่า ความพยายามที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนถึงตอนนี้ยังไม่เพียงพอ


ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดภาวะโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 โบติอุสบอกว่า เราจะไปไกลกว่า 2 องศาเซลเซียสในวิถีของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน


นอกจาก ปริมาณน้ำแข็งในแถบขั้วโลกเหนือที่ลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว การลดลงอย่างกะทันหันของน้ำแข็งในทะเลทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้ ยังสร้างความตกตะลึงให้กับโลกวิทยาศาสตร์อีกด้วย


โบติอุส กล่าวว่า " ความพยายามต่อสู้ครั้งใหญ่ ที่เรามีในขณะนี้ในด้านภูมิอากาศและวิทยาศาสตร์ขั้วโลก คือ ทำไมน้ำแข็งทวีปแอนตาร์กติกาถึงละลายเร็วขนาดนี้ แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่ เราจะสูญเสียน้ำแข็งในทะเลไปจริง ๆ ในช่วงเวลานั้นหรือไม่ และเราจะหยุดสิ่งนั้นได้อย่างไร"


โบติอุส อธิบายว่า เป็นเวลาหลายปีจนถึงปี 2558 นักวิจัยทางทะเลสังเกตเห็นการลดลงของน้ำแข็งในทะเลขั้วโลกเหนือ ในขณะที่ไม่มีการลดลงในขั้วโลกใต้จนกระทั่งปี 2558 แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อัตราการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำเตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ออกโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ตั้งแต่ปี 2533 แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถึงจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์


ฤดูร้อนในปีนี้ ถือว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จากข้อมูลของสำนักงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป ที่เผยแพร่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา




ภาพจาก รอยเตอร์


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

น้ำแข็งในแถบขั้วโลก
น้ำแข็งแถบขั้วโลก
น้ำแข็งขั้วโลก
ทะเลอาร์กติก
ก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก