"ศุภวุฒิ"เตรียมจัดเงิน 3,000 ล้านช่วยเอกชน

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการเจรจานโยบายการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยให้ข้อมูลแนวทางการเจรจา และยุทธศาสตร์ที่เตรียมไว้ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความสามารถในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของประเทศว่า วัตถุประสงค์หลัก การปรับเพิ่มภาษีของสหรัฐอเมริกามี 3 ข้อ คือ 

1. เพื่อลดการถูกเอาเปรียบ จากการขาดดุลทางการค้า และสร้างสมดุลทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกา 

2. เพื่อนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ไปลดภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ เพื่อขยายเวลาการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐฯ 

3. เพื่อดึงผู้ประกอบการและกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

ดังนั้น การดำเนินการรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่น ๆ อาจไม่ส่งผลดีกับประเทศนั้น ๆ นัก เนื่องจากไม่สามารถทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของแนวทางการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ 

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลไทย โดยการดำเนินการของคณะทำงาน ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ประเทศ ดังนี้



สรุปข่าว

"ศุภวุฒิ" ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ รับมือทรัมป์ขึ้นภาษีไทย เตรียมเปิดเจรจาปรับลดภาษีนำเข้า-เพิ่มลงทุนในสหรัฐ พร้อมจัดสินเชื่อ 3,000 ล้านบาท ช่วยเอกชน

การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารของประเทศไทย เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะถูกดำเนินการผ่านการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ 

พร้อมดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศ อื่นๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิตและประเทศเราผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มเติม

นายศุภวุฒิ กล่าวว่ารัฐบาลได้เตรียมมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของผู้ประกอบการในระยะสั้น และเตรียมเงินทุนสำหรับใช้ในการให้ผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปสหรัฐฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดย มาตรการเหล่านี้ จะช่วยผู้ประกอบการไทย สามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


ทั้งนี้ การดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้หลักการที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ และประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งต้องเจรจาในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ 

ดังนั้น ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งคือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อทำการเจรจา ก่อนที่จะมีการเจรจารอบสุดท้ายเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนค้าสินค้าที่ยังตกลงกันไม่ได้ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกา

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

ชาคร หนูคงใหม่

แท็กบทความ