ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบที่ไทยโดนภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯในอัตราร้อยละ 37 (ขยับจากเดิมร้อยละ 36) ในขณะที่คู่ค้าอื่นๆ ถูกปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2568 นั้น ในเบื้องต้นคาดว่าขนาดผลกระทบดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของ GDP ส่งผลให้ GDP ปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
สรุปข่าว
เนื่องจากคาดว่าจะกระทบส่งออกไทยปี 2568 หดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2.5 ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.4 และคาดว่าการลงทุนเอกชนจะมีความล่าช้าออกไป ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2.5 และการบริโภคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจึงปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปีนี้มาอยู่ที่ 35.9 ล้านคน จากประมาณการเดิมที่ 37.5 ล้านคน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นโยบายการเงินการคลังอาจจะต้องผ่อนคลายมากกว่าที่ประเมิน ส่วนดอกเบี้ยนโยบายอาจจะปรับลดเร็วขึ้นในเดือนเม.ย. และปรับลดเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 รวมถึงมาตรการการคลังที่จะออกมาเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว ท่ามกลางข้อจำกัดพื้นที่การคลังที่มากขึ้น
ขณะที่ภาครัฐควรเร่งสร้างความชัดเจนทั้งข้อเสนอการเจรจาผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ตลอดจนการประเมินผลกระทบและแนวทางเยียวยาภายใต้กรณีต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน
ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มารูปภาพ : TNN

ณัฐพัชญ์ ทีฆโชติคุณานนท์