
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ชาติต่าง ๆ มองต่อได้ คือ
1. ประธานาธิบดีทรัมป์ ตั้งใจลดการพึ่งพิงจีน และชาติที่ไม่ใช่พันธมิตรแท้ ๆ ของสหรัฐ อยากย้ายฐานการผลิตกลุ่มชิป เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และรถยนต์กลับมาสหรัฐ
2. ตั้งใจแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ทำอะไร ประสิทธิภาพการผลิตในสหรัฐจะแย่ลง ต้องสู้เพื่อให้ประเทศอื่นยอมลดภาษีนำเข้า
3. ประธานาธิบดีทรัมป์ ในช่วงนึงหยิบยกรายงานของตัวแทนการค้าสหรัฐ Foreign Trade Barrier ขึ้นมา อ่านรายละเอียดแล้วจะรู้ว่าชาติต่าง ๆ เก็บภาษีจากสหรัฐอย่างไร เช่น
สหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์จากประเทศอื่นร้อยละ 2.4 แต่ไทยเก็บจากสหรัฐร้อยละ 60 เวียดนามเก็บที่ร้อยละ 75 เป็นต้น
4. ภาษี Universal tariff (ทรัมป์เรียกว่า minimum cheating) จะเก็บที่ร้อยละ 10 ในวันที่ 5 เมษายน ส่วน Reciprocal tariff จะเก็บวันที่ 9 เมษายน (ภาษีจากจีนจะพุ่งไปร้อยละ 54) ขณะที่ภาษีจากแคนาดาและแมกซิโกจะเลื่อนไปรอดูการตรวจสอบการแก้ปัญหายาเสพติด และผู้อพยพผิดกฎหมาย
5. ประธานาธิบดีทรัมป์วางแผนจะใช้ภาษีนี้ลดหนี้ และกล่าวถึงแผนการจะลดภาษีในประเทศ รวมทั้งการเลื่อนการชำระหนี้ (debt extension)

สรุปข่าว
6. แนวทางแก้ปัญหาหลังจากสงครามการค้ารุนแรง- ประธานาธิบดีทรัมป์บอกวิธีแก้ไว้แล้วว่า ให้ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non tariff barrier หยุดบิดเบือนค่าเงิน
ขณะเดียวกัน เราต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบด้วยเพราะถูกเก็บภาษีถึงร้อยละ 36 เช่น การสวมสิทธิจากจีน สินค้าจีนทะลัก กระทบภาคการผลิตไทย และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงแจกเงิน แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้างงาน สร้างรายได้
หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่า หากเจรจายาก และภาษีเกิดจริง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าลดอัตราดอกเบี้ยลงรอบ 30 เมษายนนี้ ส่วน GDP ไทยจะกระทบแค่ไหน ห่วงว่ามีโอกาสโตต่ำร้อยละ 2
ส่วนท่องเที่ยวก็น่ากระทบด้วย เพราะคนขาดความเชื่อมั่น และกำลังซื้อ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจโตจากปีก่อนที่ 35.5 ล้านคนแทนที่จะทะลุ 39 ล้านคน

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล