ถอนตัว? แบรนด์หรูปิดช็อปในจีน Gucci - Prada ทยอยโบกมือลา l การตลาดเงินล้าน

เซาต์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ผู้ค้าปลีกสินค้าหรูระดับโลก กำลังเร่งถอนตัวออกจากตลาดในจีน โดยได้ปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ หลายแห่งทั่วประเทศ เช่นเมื่อเดือนที่แล้ว เคอริง (Kering) เจ้าของแบรนด์ กุชชี (Gucci) ได้ปิดร้าน กุชชี ที่เคยเปิดมานานกว่าทศวรรษ ถึง 2 แห่ง ซึ่งแห่งแรกอยู่ในห้าง รีล ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ (Reel Department Store) ใกล้กับวัด จิ้ง อัน (Jing'an) วัดดังของเมืองเซี่ยงไฮ้ และอีกหนึ่งแห่ง อยู่ในห้าง นิว เวิลด์ ไดมารู (New World Daimaru) บนถนน นานจิง (นานจิง โรด-Nanjing Road) ถนนช้อปปิงที่มีผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดของเมืองนี้

ส่วน ปราด้า (Prada) ได้ยุติการดำเนินงานสองปีที่สนามบินนานาชาติ หงเฉียว (Hongqiao) ของเมืองอีกด้วย 

สรุปข่าว

มีรายงานข่าวว่า บรรดาแบรนด์หรูทยอยปิดช็อป(ร้านค้า) ในจีนต่อเนื่อง หลังจากยอดขายหดตัว เช่น Gucci และ Prada ในขณะที่ ตลาดแบรนด์หรูในจีนก็ลดลงมากถึงร้อยละ 18-20 เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ก็ออกไปใช้จ่ายในต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปเน้นแสวงหาประสบการณ์มากกว่าซื้อสินค้า และในท่ามกลางการปรับกลยุทธ์ของแบรนด์หรูนั้น Louis Vuitton ก็กำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ด้วยการเพิ่มหมวดหมู่สินค้าความงามเข้ามา

นอกจากนี้ ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย ลิ้งก์ช็อป ดอท คอม (Linkshop.com) บริษัทที่ติดตามอุตสาหกรรมหรู เผยว่า เมื่อปีที่แล้ว แบรนด์หรูปิดร้านค้าไปก่อนหน้าแล้วหลายแห่ง โดยในช่วงไตรมาส 4 ปิดไปจำนวน 8 แห่ง และไตรมาสก่อนหน้าปิดไป 2 แห่ง ซึ่งรวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Louis Vuitton (หลุยส์ วิตตอง), Chanel (ชาแนล), Tiffany & Co (ทิฟฟานี แอนด์ โค) และ Bulgari (บูลการี)

เจเลน่า โซโกโลวา นักวิเคราะห์หุ้นอาวุโส จาก มอร์นิ่งสตาร์ กล่าวว่า ยอดขายของแบรนด์เนมในจีน ส่วนใหญ่ ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศที่ตกต่ำ แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยังได้รับผลกระทบจากชาวจีน หันไปจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศกันมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ก็ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนค่าเช่า ซึ่งอยู่ระดับสูง

ด้าน วินเซนต์ ลี (Vincent Li) หัวหน้าฝ่ายวิจัยภาคเหนือของจีน จากบริษัท ซาวิลล์ส (Savills) กล่าวว่า ในการเปิดช็อปแต่ละครั้ง แบรนด์ชั้นนำจะระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อพวกเขาจะต้องถอยกลับ ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นไปอีก และหากถอยกลับจริง นั่นหมายถึงว่า จะต้องมีอุปสรรคที่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะได้แล้ว 

ส่วน กัว ซาน (Guo Shan) หุ้นส่วนของ หูทง รีเสริช (Hutong Research) บริษัทที่ปรึกษาอิสระที่ให้บริการแก่ธุรกิจข้ามชาติ ให้ความเห็นว่า ความต้องการในการบริโภคของชาวจีน ได้เปลี่ยนไปจากสินค้าฟุ่มเฟือยแบบดั้งเดิม คือแทนที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าหรู แต่กลับให้ความสนใจผลิตภัณฑ์กีฬา และความบันเทิง เห็นได้จากปีที่ผ่านมา หมวดหมู่เสื้อผ้า เติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 3 แต่หมวดกีฬาและความบันเทิง โตขึ้นถึงร้อยละ 11.1 // และจากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่เน้นใช้จ่ายกับประสบการณ์มากกว่า สินค้า 

ด้าน เบน แอนด์ คอมพานี (BAIN & COMPANY) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เผยรายงานตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีน ปี 2024 โดยระบุว่า ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ คือแย่ลงตลอดทั้งปี และทำให้ตลาดลดลงในอัตราร้อยละ 18 ถึง 20 และกลับสู่ระดับของปี 2020 แล้ว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง 

รายงานระบุอีกว่า ในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง แม้จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังระมัดระวังในการซื้อสินค้าหรู และเลือกที่จะกระจายความมั่งคั่งของตนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายอื่น ๆ โดยผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน ใช้เหตุผลมากขึ้นในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย มีความลังเลใจที่จะซื้อ ท่ามกลางการปรับขึ้นราคาอยู่บ่อยครั้งแม้นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์จะมีจำกัด ขณะเดียวกันก็ต้องการแสวงหาประสบการณ์ จากการเดินทาง และกิจกรรมกลางแจ้ง

นอกจากนี้ พบว่าผู้บริโภคชาวจีน หันไปใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย เห็นได้ว่า ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีน ในยุโรป สูงขึ้นถึงประมาณร้อยละ 50 ของระดับปี 2019 แล้ว ส่วนในเอเชียแปซิฟิก เพิ่มสูงขั้นถึง 120% จากระดับปี 2019 โดยปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวน และเงินเยน ญี่ปุ่น กระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม มีคาดการณ์ด้วยว่า ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีน มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในตลอดครึ่งปีแรกของปี 2025 ส่วนครึ่งปีหลังอาจมีสัญญาณเชิงบวกอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของทั้งปี จะอยู่ในระดับทรงตัว 

ข้อมูลจาก เบน แอนด์ คอมพานี รายงานว่า หมวดเครื่องประดับและนาฬิกา ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด ซึ่งปี 2024 หมวดนาฬิกา ลดลงไประหว่างร้อยละ 28 ถึงร้อยละ 33 ส่วนเครื่องประดับลดลงร้อยละ 25 - 30

หมวดสินค้าแฟชัน ประสบกับภาวะถดถอยน้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าเครื่องหนัง โดย แฟชันลดลงร้อยละ 15-20 ขณะที่เครื่องหนัง ลดลง มากกว่าที่ ร้อยละ 20-25

แต่กลุ่มความงาม เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวระดับพรีเมียม ได้รับผลกระทบต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยลดลงร้อยละ 10 สะท้อนถึงความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งมากขึ้นของสินค้าในหมวดหมู่นี้ เนื่องจากผู้บริโภคแสวงหาประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึก เช่น การให้รางวัลตัวเอง หรือความเพลิดเพลินส่วนตัวผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ 

ทั้งนี้ ในท่ามกลางการปรับกลยุทธ์ของบรรดาแบรนด์หรู ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง การขยับตัวครั้งสำคัญของ หลุยส์ วิตตอง ในปีนี้ ก็กำลังถูกกล่าวถึงกันมาก กับการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอาง

โดย หลุยส์ วิตตอง ของ แอลวีเอ็มเอช (LVMH) ประกาศเปิดตัวหมวดหมู่สินค้าใหม่กลุ่มความงาม ที่เรียกว่า "ลา โบเต้ หลุยส์ วิตตอง" (La Beauté Louis Vuitton) พร้อมแต่งตั้ง แพท แมคแกรธ (Pat McGrath) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่ง แมคแกรธ เธอเป็นช่างแต่งหน้าที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นช่างแต่งหน้าที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก

การเปิดตัวเครื่องสำอาง จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ประกอบด้วยลิปสติก 55 เฉดสี, ลิปบาล์ม 10 รายการ และอายแชโดว์อีก 8 รุ่น

แมคแกรธ ให้สัมภาษณ์กับ โวก บิซิเนส (Vogue Business) บอกว่า ให้เตรียมตื่นตาตื่นใจได้เลย และบอกอีกว่า สิ่งนี้เป็นเหมือนกับงานฝีมือ ด้วยแนวคิดที่ต้องการนำเสนอมุมมองเชิงศิลปะเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรม และความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์แฟชัน พร้อมกับนวัตกรรมที่ดีที่สุดที่แลปส์ของฝรั่งเศสจะสามารถนำเสนอได้

ส่วน ฟอร์จูน รายงานว่า แอลวีเอ็มเอช บริษัทแม่ของ หลุยส์ วิตตอง กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันของตลาดสินค้าหรู ทำให้ยอดขายลดลง โดยปีที่แล้ว รายได้ของบริษัทฯ ลดลงไปร้อยละ 2 ส่วนกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 17 แต่กลุ่มน้ำหอม และเครื่องสำอางของ แอลวีเอ็มเอช ยังคงเติบโตได้ร้อยละ 4 สวนทางกับกลุ่มไวน์ แฟชัน และเครื่องหนังที่มียอดขายลดลง

การก้าวเข้าสู่ตลาดเครื่องสำอางนี้ แม้จะช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่อาจสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภคที่ต้องการครอบครองสินค้าของแบรนด์ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากเกินไป ได้ 

เช่นปรากฎการณ์ ลิปสติก เอฟเฟกต์ (Lipstick Effect) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคเลือกใช้จ่ายกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างความพึงพอใจให้กับตัวเองในช่วงเงินตึงมือ และนั่น ก็ทำให้ ซีโฟรา (Sephora) เติบโตขึ้น

ส่วนแบรนด์ที่เข้าร่วมกับ ลิปสติก เอฟเฟกต์ มาก่อน เช่น เซลีน (Celine) ที่เปิดตัวลิปสติกเมื่อปีที่แล้ว ในราคาประมาณ 75 ยูโร และในทำนองเดียวกัน แอร์เมส (Hermès) กระเป๋าที่ขึ้นชื่อว่าหายาก และราคาสูง แต่ ลิปสติก ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เปิดในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2020 และมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ยูโร ขึ้นไป

น้ำหอม ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แบรนด์หรู พยายามขยายธุรกิจให้กว้างมากขึ้นมากกว่าแค่แฟชัน และเครื่องประดับ แต่จะสามารถรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นแบรนด์หรูเอาไว้ด้วย 

ฟอร์จูน รายงานอีกว่า ผู้เล่นรายอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกันนี้ ซึ่งรวมถึง Burberry (เบอร์เบอร์รี) และ Chanel (ชาแนล) ส่วน มิว มิว (Miu Miu) แบรนด์น้องสาวของ ปราด้า ก็กำลังวางแผนที่จะเปิดตัวไลน์ผลิตภัณฑ์ความงามในปี 2025 นี้ เช่นเดียวกับ หลุยส์ วิตตอง ที่ทำเพื่อกระตุ้นความสนใจของนักช้อปรุ่นใหม่ที่ยังชื่นชอบสินค้าหรู ในท่ามกลางความต้องการของสินค้าหรูที่ลดลงในปัจจุบัน

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ : -

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon