นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพระดับภูมิภาคนิคมอุตสาหกรรมที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงบทบาทสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมมีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบูรณาการการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระหว่างหน่วยงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับ กนอ. และ UNIDO เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ ในด้านแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน รวมถึงกลไกทางการเงิน การรับมือ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สรุปข่าว
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า กนอ. มีรูปแบบการทำงานเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อสร้างระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ด้านนางฟาตู ไฮดารา (Fatou Haidara) รองผู้อำนวยการใหญ่และกรรมการผู้จัดการ สำนักความร่วมมือระดับโลกและความสัมพันธ์ภายนอก แห่งองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กล่าวว่า UNIDO มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยตระหนักว่าอุตสาหกรรมไม่เพียงเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหลักธรรมาภิบาล
และขอชื่นชมประเทศไทยในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำว่าความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จ โดยผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อพัฒนาศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมให้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 - 12 มีนาคมนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60 คน เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ผู้พัฒนาที่ประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสีเขียวจากประเทศจีน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย