นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.25% ว่า ในส่วนนี้คงต้องให้ผู้ที่ดูแลนโยบายการเงินไปติดตามต่อไปว่า หลังจาก กนง.ลดดอกเบี้ยสถานการณ์ภายในประเทศเป็นอย่างไร ควบคู่กับสถานการณ์นอกประเทศ ฉะนั้น ปล่อยให้ผู้ที่ดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นผู้พิจารณา
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง เร่งพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้ว 0.25% เมื่อวันที่ 26 ก.พ.68 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้สถาบันการเงินรัฐ ยังไม่มีรายได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
สรุปข่าว
ทั้งนี้ เวลาปรับดอกเบี้ยขึ้น ปรับเร็วมาก แต่พอปรับลด ผ่านไป 3 วันก็ยังไม่ดำเนินการ จึงได้สั่งการไปอีกครั้ง ให้เร่งปรับลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เพื่อทำให้มีเม็ดเงินเหลือมาจับจ่ายใช้สอย ผมในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการแล้วเช่นกัน"
สำหรับสถาบันการเงินรัฐ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี ดีแบงก์, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
นอกจากนี้ รมช.คลัง ยังกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีมติให้จ่ายเงินชดเชยเกษตรกรโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 10 ไร่ว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.ยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าว แต่หากได้รับเรื่องเมื่อใด จะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.อนุมัติทันที เพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปจับจ่ายใช้สอย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ