ไทยบรรลุเป้าลดคนจนหลายมิติก่อนกำหนด 7 ปี

ในปี 2558 สมาชิกขององค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ไว้เป็นเป้าหมายแรกที่ทุกประเทศจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันให้บรรลุในปี 2573

ในกรณีประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ได้พัฒนาดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทย (Multi-dimensional Poverty Index: MPI) ขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการติดตามและประเมินความก้าวหน้า SDGs ในเป้าหมายย่อยที่ 1.2  คือ  ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัยที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2573  

โดยจากการประเมินครั้งแรกในปี 2558 ซึ่ง MPI ที่สภาพัฒน์ได้พัฒนาขึ้นพบว่าสถานการณ์ความยากจนหลายมิติของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีความยากจนหลายมิติปรับลดลงต่อเนื่อง ในปี 2566 มีค่าเท่ากับ 0.033  โดยมีคนจนหลายมิติจำนวน 6.13 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.76  จากประชากรทั้งหมด ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนคนจนหลายมิติร้อยละ 20.08  ทำให้ 2566 ประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนหลายมิติลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนคนจนหลายมิติก่อนเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

ทั้งนี้ พบว่า สัดส่วนคนจนหลายมิติในทุกช่วงวัยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงานจากร้อยละ 16.06 เป็นร้อยละ 6.03 เช่นเดียวกับเพศชายและหญิงที่ลดลงจากร้อยละ 20.39 และ 19.80 เป็นร้อยละ 9.05 และ 8.50 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนคนจนหลายมิติในเกือบทุกภูมิภาคลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ยกเว้นภาคใต้


สรุปข่าว

สภาพัฒน์เผย ไทยบรรลุเป้าลดสัดส่วนคนจนหลายมิติก่อนกำหนดถึง 7 ปี โดยในปี 2566 มีคนจนหลายมิติ 6.13 ล้านคน แต่ยังมีคนไทยอีกกว่า 24 ล้านคน เสี่ยงต่อการเป็นคนจนหลายมิติ พร้อมถอดบทเรียนต่างประเทศ นำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

สภาพัฒน์ระบุว่า การที่ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดสัดส่วนคนจนหลายมิติลงครึ่งหนึ่งได้นั้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ในช่วง 2558 – 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ต่อปีแม้จะมีการหดตัวบ้างในช่วงการระบาดของ COVID-19 

รวมทั้งนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ได้รับสวัสดิการประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งเป็นโครงการที่ให้เงินอุดหนุนค่าครองชีพกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งค่าอาหาร ก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา จึงมีส่วนช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัด MPI จะพบตัวชี้วัดที่มีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก คือ การใช้อินเทอร์เน็ต การเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด การกำจัดขยะที่เหมาะสม การเข้าถึงการศึกษา และการมีบำเหน็จบำนาญ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก  (1) การพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา ถนนรวมถึงการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  

โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กระจายออกไปยังพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายขอบ ตลอดจนการมีโครงการอินเทอร์เน็ตฟรีที่สนับสนุนให้นักเรียนยากจนได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่ดีขึ้น และการปรับตัวของภาครัฐ ดังเช่นการให้ความช่วยเหลือผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ครัวเรือนเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยระหว่างปี 2560 – 2564 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 65.047

(2) การพัฒนาระบบการศึกษา หลักสูตร และการอุดหนุนทรัพยากรการศึกษา โดยภาครัฐมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เพื่อส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมเด็กตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 

 อีกทั้งยังมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการศึกษาผ่านกองทุนต่าง ๆ อาทิ เงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทุนเสมอภาคและทุนสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่มีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กในครัวเรือนยากจนและลดความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบ โดยในปีการศึกษา 2566 เด็กไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กว่าร้อยละ 95.948 

นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ยังมีส่วนช่วยให้พ่อแม่วัยแรงงานได้อยู่ร่วมกับเด็ก อันจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย และลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการเข้าเรียนล่าช้าจากการมีภาวะการเรียนรู้ช้า

(3) การสร้างและเพิ่มความครอบคลุมของหลักประกันทางสังคม ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีความพยายามในการสร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของระบบประกันสังคมที่มุ่งเน้นการสร้างความคุ้มครองให้แก่แรงงานทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ซึ่งในปี 2567 มีผู้ประกันตนรวมทุกมาตรากว่า 24.8 ล้านคน 

อีกทั้ง ยังได้จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการรองรับได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณจากเงินออมสะสม ทำให้แรงงานนอกระบบกว่า 2.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2567) มีหลักประกันรายได้มารองรับในยามเกษียณมากขึ้น 

ขณะเดียวกันแม้ว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะไม่ได้จัดว่าเป็นบำนาญ แต่ถือเป็นสวัสดิการที่มีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นคงทางการเงินในยามเกษียณให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยฯจำนวนเกือบ 12.7 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยมีนโยบายที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชน และทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนหลายมิติลงครึ่งหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ความยากจนหลายมิติยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจและความท้าทายหลายด้าน ดังนี้

1) แม้ว่าคนจนหลายมิติจะลดลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีคนจนอยู่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจนอีกกว่า 1.35 ล้านคน ที่กำลังประสบปัญหาทั้งคุณภาพชีวิตและการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อน อาจหลุดพ้นความยากจนได้ยาก

 2) คนไทยอีกกว่า 24 ล้านคน เสี่ยงต่อการเป็นคนจนหลายมิติ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.7 ของประชากรทั้งหมด โดยมีความขัดสนในด้านการมีบำเหน็จ/บำนาญมากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง 

3) การแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางการเงิน  ซึ่งยังมีข้อจำกัดหลายประการ แม้ว่าจะมีบำเหน็จ/บำนาญรองรับยามเกษียณมากกว่าในอดีต แต่สัดส่วนคนจนหลายมิติที่ไม่มีบำเหน็จ/บำนาญอยู่ในอันดับสูงที่สุดมาตั้งแต่ปี 2560  อีกทั้ง ข้อจำกัดการดึงแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบ รวมถึงรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ที่อาจทำให้แรงงานในอนาคตมีเสี่ยงต่อการไม่มีหลักประกันยามเกษียณ 

ขณะเดียวกัน มิติความมั่นคงทางการเงินยังครอบคลุมถึงการออม และภาระทางการเงิน ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับระดับของหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงสูง อาจส่งผลให้ครัวเรือนมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นและมีการออมลดลงได้

และ 4) การใช้นโยบายที่เหมือนกันในทุกพื้นที่ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติได้อย่างตรงจุด เนื่องจากปัญหามีความเชื่อมโยงกันไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงอย่างเดียว  

โดยเมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ความมั่นคงทางการเงินเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคนในกรุงเทพมหานครมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านความเป็นอยู่ และการศึกษา ขณะที่ในภูมิภาคอื่น มิติด้านความเป็นอยู่ เป็นมิติที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุดรองลงมา คือ ความมั่นคงทางการเงินและการใช้ชีวิตในแบบที่ดีต่อสุขภาพ ตามลำดับ 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า แม้ว่าจังหวัดจะมีพื้นที่ติดกัน แต่อาจมีปัญหาที่แตกต่างกัน อาทิ จังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์ โดยจังหวัดพิษณุโลกมีปัญหาด้านการกำจัดขยะมากที่สุด ขณะที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปัญหาการขาดบำเหน็จบำนาญ  สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายในแต่ละพื้นที่ควรมีการจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น 

ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนหลายมิติได้เนื่องจากบางปัญหามีความเชื่อมโยงกัน เช่น การมีภาระทางการเงิน ที่อาจมีผลต่อการออม การถือครองทรัพย์สินและความขัดสนในด้านอาหาร เป็นต้น


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้นำ MPI มาใช้เป็นตัวชี้วัดและติดตามการลดความยากจนในประเทศ แต่อาจยังไม่ได้ใช้ประกอบการพิจารณาออกแบบ/จัดทำนโยบายมากนัก ซึ่งหลายประเทศมีการนำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะต่าง ๆ อาทิ

ประเทศภูฏาน ได้นำ MPIมาใช้ในการกำหนดสูตรการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ โดยใช้ MPI เป็นเกณฑ์หลักในการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้กับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะกำหนดจากระดับความยากจนหลายมิติของแต่ละเขต จึงทำให้ทรัพยากรถูกกระจายไปยังพื้นที่ที่มีความขาดแคลนสูงก่อน

ประเทศเม็กซิโก จัดทำ MPI โดยใช้ฐานข้อมูลสำมะโนประชากรและการสำรวจในระดับเทศบาล และยังได้นำข้อมูล MPI มาจัดทำเป็นแผนที่ความยากจนทางสังคม (Maps of Social Deprivations) ที่แสดงพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของกลุ่มเปราะบาง เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบาย/มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ 

ประเทศเวียดนาม ได้มีการจัดทำและวิเคราะห์ข้อมูล MPI ร่วมกับข้อมูลอื่น อาทิ การสำรวจคุณภาพชีวิตครัวเรือนย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555 เพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกนโยบาย/มาตรการลดความยากจน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างนโยบายเพื่อให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นและสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นการลดความยากจนหลายมิติและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้อยโอกาส 

ประเทศโคลอมเบีย ได้นำแนวทางการประเมินความยากจนแบบหลายมิติของประเทศ เป็นกรอบการจัดทำทะเบียนครัวเรือนยากจนแห่งชาติ (SISBEN) จำแนกครัวเรือนตามความสามารถในการสร้างรายได้และสภาพความเป็นอยู่เพื่อใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติในการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ โครงการ Familias en Acción ซึ่งเป็นโครงการโอนเงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่อยู่ในฐานข้อมูล SISBEN เพื่อแก้ปัญหาความขัดสนในด้านสุขภาพและการศึกษาของเด็ก เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี  แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายย่อยที่ 1.2 ของ SDGs ได้ในปี 2566 หรือบรรลุก่อนกำหนดล่วงหน้า 7 ปี แต่ปัญหาความยากจนยังคงมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ซึ่งไทยต้องให้ความสำคัญทั้งการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อหาแนวทางในการทำให้ความยากจนหมดไป ดังนี้

1) การปรับเป้าหมาย ตัวชี้วัด และเกณฑ์ความขัดสนให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยการเปลี่ยนตัวชี้วัดที่มีความขัดสนต่ำและปรับเพิ่มเกณฑความขัดสนให้สูงขึ้น อาทิ การพิจารณาภาระทางการเงินจากรายได้สุทธิของครัวเรือน

2) การส่งเสริมให้นำ MPI มาวิเคราะห์เพื่อหากลุ่มเป้าหมายในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความยากจน และทำ Policy Package ในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะปัญหามีความเชื่อมโยงกัน ทำให้นโยบายแก้ไขปัญหาต้องแก้ทุกด้านควบคู่กันไป

3) การใช้ MPI เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา ผ่านการจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และแผนจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดที่มีความยากจนสูงหรือมีความขัดสนหลายดานมากกว่าจังหวัดที่มีความยากจนต่ำ

 และ 4) การจัดทำข้อมูลให้สะท้อนคุณภาพชีวิตและครัวเรือนทุกรูปแบบเพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตได้อย่ารอบด้าน อีกทั้งไม่สะท้อนความต้องการที่แตกต่างในแต่ละพื้น และกลุ่มครัวเรือน