สศช.ชี้ ไทยมีสถิติคุกคามทางไซเบอร์ 2,135 ครั้ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2567 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผลให้เป็นที่ต้องการของคนหลายกลุ่มทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงผู้ไม่หวังดีที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ที่อ่อนไหว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรม และสร้างความเสียหายต่างๆ

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่พบความเสียหายที่ชัดเจน แต่ในช่วง ปี 2564 - 2567 มีสถิติการคุกคามทางไซเบอร์จำนวน 2,135 ครั้ง มีข้อมูลรั่วไหลมากกว่า 26,000 ล้านรายการ ผ่านหลายช่องทาง ซึ่งเมื่อประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย

พบประเด็นที่น่ากังวลที่อาจทำให้ข้อมูลรั่วไหล ดังนี้


สรุปข่าว

สภาพัฒน์ ชี้ ไทย มีสถิติคุกคามทางไซเบอร์ 2,135 ครั้ง แนะกำหนดแนวทางรับมือที่ชัดเจน

1) คนไทยบางส่วนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแท้จริง โดยคนไทย 60% ยินยอมให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษ ส่วนลดสินค้า หรือของสมนาคุณจากบริษัท

2) ภาครัฐและเอกชนของไทยยังขาดแนวทางรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ชัดเจน โดยหน่วยงานรัฐ 75% ไม่มีแผนสำหรับรองรับการคุกคามทางไซเบอร์ส่วนภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) 67% เคยถูกโจมตี ทางไซเบอร์ และทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักเพราะการรักษาความปลอดภัยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


3) หลายหน่วยงานยังขาดบุคลากรทั้งจำนวนและทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดย 72% จากองค์กรที่ถูกละเมิดข้อมูลขาดแคลนทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยขาดแคลนทั้งในภาครัฐและเอกชน

และ 4) การขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประสานงานระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอาจต้อง  มีการดำเนินการตั้งแต่การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล โดยการรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ทางไซเบอร์โดยวิธีการปฏิบัติอีกทั้งยังต้องส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ กำหนดแนวทางและพัฒนาบุคลากรเพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ชัดเจน 

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN