แบงก์เสี่ยงคนแห่ถอนเงินจากข่าวปลอม AI

ผลการศึกษาของบริษัทวิจัย “เซย์ โน ทู ดิสอินโฟ” (Say No to Disinfo) และบริษัทด้านการสื่อสาร “เฟนิมอร์ ฮาร์เปอร์” (Fenimore Harper) ในอังกฤษ ระบุว่า ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ที่ทำโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแพร่หลายในโลกโซเชียลมีเดีย อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแห่ถอนเงินจากธนาคาร (bank run)


รายงานอธิบายว่า AI แบบรู้สร้าง (generative AI) ถูกใช้ให้ทำข่าวปลอมในทำนองว่า เงินของลูกค้าไม่ปลอดภัย หรือทำมีม (meme) ล้อเลียนเรื่องระบบความปลอดภัยของธนาคาร ซึ่งอาจแพร่หลายในโลกออนไลน์ผ่านการโฆษณาแบบจ่ายเงิน


ธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการแห่ถอนเงินจากธนาคารที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย หลังจากการล้มของ “ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” (SVB) เมื่อปี 2566 โดยมีการถอนเงินราว 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 24 ชั่วโมง


ความก้าวหน้าของ AI ทำให้ความเสี่ยงเรื่องนี้รุนแรงขึ้น คณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่ม G20 เตือนเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า AI แบบรู้สร้างอาจถูกผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์รุนแรง รวมถึงราคาหุ้นที่ร่วงแบบฉับพลัน (flash crash) และการแห่ถอนเงินจากธนาคาร

แบงก์เสี่ยงคนแห่ถอนเงินจากข่าวปลอม AI

สรุปข่าว

ผลศึกษาชี้ ข่าวปลอมจาก AI อาจจุดชนวนให้คนแห่ถอนเงินจากธนาคารจนกลายเป็นปัญหา ราว 1 ใน 3 มีแนวโน้มสูงมากที่จะย้ายเงินออกหลังจากเห็นเนื้อหาดังกล่าว

“เซย์ โน ทู ดิสอินโฟ” แสดงตัวอย่างเนื้อหาที่สร้างโดย AI และส่งให้ลูกค้าธนาคารในอังกฤษ พบว่า ราว 1 ใน 3 มีแนวโน้มสูงมากที่จะย้ายเงินออกหลังจากเห็นเนื้อหาดังกล่าว ส่วนอีกร้อยละ 27 มีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะดำเนินการแบบเดียวกัน

รายงานระบุด้วยว่า AI ทำให้เผยแพร่ข่าวปลอมง่ายขึ้น ถูกลง รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย ดังนั้น ความเสี่ยงใหม่ ๆ ต่อภาคการเงินจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลายครั้งมักถูกมองข้าม ขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์และทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือก็ทำให้ผู้คนสามารถย้ายเงินได้ภายในไม่กี่วินาที

รายงานเตือนว่า ธนาคารต่าง ๆ จำเป็นต้องตรวจสอบเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย และจะต้องบูรณาการกับระบบตรวจสอบการถอนเงิน เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าเมื่อใดที่ข้อมูลอันตรายจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกค้า