SCB FM ชี้สหรัฐขึ้นภาษี ทำให้ตลาดการเงินผันผวนแรง คาดเงินบาท 33.85-34.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets หรือ SCB FM)เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้า(Tariffs)  โดยพบว่าคำขู่และการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน ในระยะต่อไปมองว่าดัชนีเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าต่อได้ จากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่ง 


อีกทั้ง มองว่ามาตรการ Tariffs จะยังอยู่ต่อเพราะทรัมป์น่าจะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองการค้า/ธุรกิจกับต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้นมากกว่ากลับมาแข็งค่า จึงทำให้บาทอาจยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าในกรอบ 33.85-34.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ทั้งนี้ ความผันผวน (Implied volatility) ในตลาดเงินที่สูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ลูกค้าส่งออก/นำเข้า โดยการป้องกันอาจพิจารณาทำ FX option เพื่อจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น


นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของ Tariffs โดยพบว่าคำขู่และการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงถึง 30-40 สตางค์ในช่วงข้ามคืน โดยในช่วงแรกที่ทรัมป์มีท่าทีผ่อนปรนต่อนโยบายTariffs ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเร็วพร้อมเงินสกุลภูมิภาค รวมถึงเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวน 


อย่างไรก็ดี หลังจากทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ทำให้ตลาดกลับมากังวลผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเร็ว เงินบาทอ่อนค่า ด้าน US Treasury yields ปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มเงินเฟ้อ ขณะที่ ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นและแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายก็ส่งผลต่อเงินบาทเช่นกัน 


โดยความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนหันมาถือทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาที่ราคาทองคำสูงขึ้น จะหนุนให้บาทแข็งค่ากว่าสกุลอื่นในบางช่วง ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงินไทย พบว่าในช่วงที่ทรัมป์มีท่าทีผ่อนปรนต่อนโยบาย Tariffs มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดบอนด์ไทยติดต่อกันเกือบสัปดาห์ 


อย่างไรก็ดี ข่าวการมาของ DeepSeek ทำให้ตลาดการเงินโลกเกิดภาวะ Risk-off และเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินไทย โดยนักลงทุนหันไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทองคำ ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง รวมถึงสกุลเงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่า หากสงครามการค้าไม่ทวีความรุนแรงตามที่คาดไว้ เงินทุนเคลื่อนย้ายก็มีแนวโน้มไหลออกน้อยลงในปีนี้


สำหรับในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้ เนื่องจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสแข็งค่าต่อจากเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังแข็งแกร่ง ทำให้ Fed จะยังไม่รีบลดดอกเบี้ย โดยการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของธนาคารกลางหสรัฐ (Fed) อาจต้องรอถึงช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งความเสี่ยงจากมาตรการ Tariffs น่าจะยังอยู่ ทำให้เงินบาทอาจยังอ่อนค่าในกรอบ 33.85-34.35 บาท/ดอลลาร์ได้


นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโสธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทที่ราว 34.00-34.50 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ เนื่องจาก ในเวลาที่มีข่าวด้านลบ (เช่น ประกาศขึ้นภาษี) ตลาดมักมี Reaction ที่แรงกว่าในเวลาที่มีข่าวดี (เช่น เลื่อนวันขึ้นภาษีออกไป) จึงทำให้มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าต่อได้ อีกทั้ง มองว่า Fed จะยังไม่รีบส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยในไตรมาสแรกนี้ เพราะเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อจะลดลงช้า 


สำหรับผู้นำเข้ามองว่าเงินบาทที่ราว 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่อาจพิจารณาซื้อได้ เนื่องจาก ที่ระดับนี้ตลาดได้ Price-out tariff premium ออกไปมากแล้ว สะท้อนจากช่วงที่ทรัมป์ให้ข่าวว่าอยากหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน เงินบาทแข็งค่าที่ราว 33.60-33.70 บาท/ดอลลาร์  ทั้งนี้ มองว่าความเสี่ยงจาก Tariffs จะยังอยู่ เพราะทรัมป์จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองการค้า/ธุรกิจกับต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้นมากกว่า ความผันผวน (Implied volatility) ในตลาดเงินที่สูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ลูกค้าส่งออก/นำเข้า อาจพิจารณาทำ FX option เพื่อจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีขึ้น 


ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนมิถุนายน ตามสถานการณ์สินเชื่อที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นจากต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนเช่นกัน โดยตลาดให้โอกาสเพียงราวร้อยละ 50 ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ตลาดให้โอกาสราว ร้อยละ 80 ที่จะมีการลดครั้งที่ 2 ในปีนี้

SCB FM ชี้สหรัฐขึ้นภาษี ทำให้ตลาดการเงินผันผวนแรง คาดเงินบาท 33.85-34.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สรุปข่าว