ไทยพร้อม? ชิงศูนย์กลางการเงินโลก

ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ในการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว มุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ ( Industry Transformation) พัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine)

ซึ่งการจัดตั้ง “ศูนย์กลางทางการเงิน”  หรือ Financial Hub เป็นหนึ่งในนโยบายที่จะช่วยพัฒนาบทบาทให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก โดยรัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทย ”เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก” 

ล่าสุดรัฐบาลประกาศจะเร่งขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมในปี 2568 ผ่านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ( ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงิน)  เพื่อพัฒนาไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

แต่ก่อนจะไปดูรายละเอียดของ ร่างพ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน มาทำความรู้จักศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Center หรือ Financial Hub) และปัจจุบันไทยอยู่ตรงไหนของศูนย์กลางทางการเงินโลก จากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

ศูนย์กลางทางการเงินโลก คือ ศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเงิน โดยคุณสมบัติสำคัญคือ มีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทและมีจำนวนมาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ สูงซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของปริมาณธุรกรรมข้ามพรมแดน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงมีกฎหมายและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดช่วยให้ศูนย์กลางทางการเงินมีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมและมีความหลากหลาย 

สรุปข่าว

กางแผนที่ศูนย์กลางทางการเงินโลก (Financial Center หรือ Financial Hub) ไทยอยู่ตรงไหน? และมีความพร้อมจะท้าชิงเป็น "ศูนย์กลางการเงิน" หรือไม่ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงิน เน้นดึงดูด 8 ธุรกิจเป้าหมาย ขับเคลื่อนไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินโลก

แล้วไทยอยู่ตรงไหน? จากรายงาน Global Financial Centres Index 36 (GFCI)  ได้ประเมิน “กรุงเทพฯ” อยู่ที่อันดับ 95 จาก 212  ศูนย์กลางการเงินทั่วโลก เมื่อเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากอันดับที่ 93 เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ขณะที่หากเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรือโลก อย่างเช่น นิวยอร์ก (อันดับ 1) ลอนดอน (2) ฮ่องกง (3) สิงคโปร์ (4) หรือดูไบ (16)

 จะพบว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มาก เนื่องจากเมืองศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ เหล่านั้น ได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก

นอกจากนี้ เมืองเหล่านั้น ยังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางการเงิน (Wealth Management) ขณะที่ ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่จีนและประเทศอื่นในโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น Investment Bank และ Trade Finance เป็นต้น 

สอดคล้องกับมุมมอง ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์กลางทางการเงิน  มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา เสนอแนะ และจัดทำนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการผลักดันประเทศไทยเป็น Financial Hub และยกร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงิน) ระบุว่า 

หนึ่งในจุดแข็งของศูนย์กลางทางการเงินไทย คือไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  ดังนั้น รัฐบาลจะพยายามเติมเต็มข้อจำกัดหรือช่องว่างที่ศูนย์กลางการเงินในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์  โดยทำให้กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะเปิดกว้างและมีข้อจำกัดน้อย

 นอกจากนี้ ดร.เผ่าภูมิระบุว่า  รัฐบาลตั้งเป้าปั้นไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีความเชื่อมโยงไปสู่ประเทศในภูมิภาคที่เหนือกว่าหรือได้เปรียบกว่าศูนย์กลางทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน

และอีกจุดแข็งของไทย คือ ไทยมีภูมิทัศน์ทางการเงิน (Financial Landscape) ที่ครอบคลุมประชากรของประเทศได้อย่างทั่วถึง มีภาคการธนาคารที่แข็งแกร่ง มีระบบการกำกับดูแลที่ดี 

ขณะที่ค่าจ้างแรงงาน และค่าครองชีพในไทยไม่สูงมาก  ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในศูนย์กลางทางการเงินของหลายประเทศอาจเผชิญปัญหาค่าเช่าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินมีแรงจูงใจที่จะย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่เดิมและมองหาพื้นที่ใหม่ที่ต้นทุน การทำธุรกิจไม่สูงจนเกินไป  ไทยจึงมีโอกาสดึงดูดต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศได้ 

ดังนั้น เพื่อขยายบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติมากขึ้นกว่านี้ ยังต้องอาศัยการเร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย การสนับสนุนให้มี Talent จากต่างชาติเข้ามามากขึ้น การลดภาษีและการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ควบคู่กับการพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยประกอบด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน 


สำหรับความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางทางการเงิน ได้ผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว  กระทรวงการคลังคาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน จำนวน 96 มาตรา เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้   

เมื่อครม. เห็นชอบแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนจะเข้าสู่รัฐสภา  โดยคาดว่าจะดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้  และน่าจะประกาศใช้ได้ภายในปีหน้า 

โดยร่าง พ.ร.บ. มีหลักการสำคัญ ดังนี้

1.  ธุรกิจเป้าหมาย

Financial Hub ต้องการดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ 8 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ 2) ธุรกิจบริการการชำระเงิน 3) ธุรกิจหลักทรัพย์ 4) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6) ธุรกิจประกันภัย 7) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ และ 8) ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงินตามที่ คกก. ประกาศกำหนด ให้เข้ามาลงทุนและตั้งบริษัทในไทย

โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนดและต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด โดยสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) เท่านั้น 

ทั้งนี้จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณีมีกิจกรรมการมีส่วนร่วมในตลาด (Market Participant) ดังนี้ 

(1) ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทยเพื่อโอนความเสี่ยงได้

(2) ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้

(3) ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทยเพื่อบริหารความเสี่ยงได้ 

(4) ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้

(5) ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท

2) สิทธิประโยชน์ 

ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายภายใต้ Financial Hub จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องแข่งขันได้ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี เช่น การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การให้กรรมสิทธิในการถือครองห้องชุดเพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย เป็นต้น 

และ 3) การอนุญาตและกำกับดูแล

จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA ) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to end) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน และมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คกก. OSA) ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางการส่งเสริม กำหนดประเภทและขอบเขตของการอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาต การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมั่นใจว่าการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคจะดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย เกิดการจ้างงานในประเทศ เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย รัฐบาลจึงมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้ Financial Hub เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ผ่านพรบ.ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปีหน้า 




ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย , กระทรวงการคลัง

ที่มารูปภาพ : TNN