ธปท. ยกระดับมาตรการตัดตอนบัญชีม้า - จ่อให้แบงก์ร่วมชดใช้เหยื่อโจรไซเบอร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้ายกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าและป้องกันภัยทุจริตทางการเงินอย่างเข้มข้น หลังพบว่าพฤติกรรมของมิจฉาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความเสียหายยังคงเกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมาตรการล่าสุดมุ่งเน้นไปที่การกวาดล้างบัญชีม้าให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ธปท. ยกระดับมาตรการตัดตอนบัญชีม้า - จ่อให้แบงก์ร่วมชดใช้เหยื่อโจรไซเบอร์

สรุปข่าว

ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้า โดยเพิ่มเงื่อนไขตรวจจับให้เข้มขึ้น ขยายการระงับบัญชีต้องสงสัย และแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามธนาคารเพื่อลดช่องโหว่ของมิจฉาชีพ นอกจากนี้ ธปท. เตรียมออกประกาศให้ธนาคารร่วมรับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ตามหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility)

3 แนวทางหลักในการจัดการบัญชีม้า
- ปรับเงื่อนไขบัญชีม้าให้เข้มขึ้น ธนาคารจะนำปัจจัยเพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมการโอนเงินและมูลค่าธุรกรรม มาพิจารณาเพื่อให้สามารถระงับบัญชีม้าได้ แม้ยังไม่มีการแจ้งความจากผู้เสียหาย
- ขยายมาตรการจัดการบัญชีต้องสงสัย ธนาคารต้องระงับการโอนเงินออกจากบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง และป้องกันการเปิดบัญชีใหม่ของบุคคลที่อาจเป็นบัญชีม้า รวมถึงกันเงินไม่ให้เข้าสู่บัญชีที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ ธนาคารต้องแจ้งเตือนให้ผู้โอนรู้ตัวว่า อาจกำลังโอนเงินไปยังบัญชีม้า เพื่อป้องกันความเสียหายตั้งแต่ต้น และผู้ถูกหลอกไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรับเงินคืน
- ขยายการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามธนาคาร เดิมที การแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และบุคคลที่ถูกแจ้งความ แต่ขณะนี้จะครอบคลุมบุคคลที่ธนาคารตรวจสอบพบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย แม้ยังไม่มีรายงานจากผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ธปท. ยังมุ่งเน้นให้ธนาคารพัฒนาระบบตรวจจับบัญชีม้าให้ทันสมัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อปิดช่องโหว่เส้นทางการเงินของมิจฉาชีพ
เพื่อแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินอย่างยั่งยืน ธปท. เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐ ต้องร่วมรับผิดชอบในขอบเขตของตนเอง หากฝ่ายใดละเลยหน้าที่จนเกิดความเสียหาย อาจต้องร่วมชดเชยให้แก่ผู้เสียหายตามหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility)
ธปท. เตรียมออกประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของธนาคารให้ชัดเจน เพื่อใช้พิจารณาการรับผิดในกรณีที่เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เพื่อให้เกิดมาตรฐานการคุ้มครองประชาชนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มารูปภาพ : AFP

แท็กบทความ