สรุปข่าว
รถไฟความเร็วสูงในเวียดนาม ถูกพูดถึงมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.2567 รัฐบาลเวียดนามอนุมัติการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงฮานอย ทางตอนเหนือ กับนครโฮจิมินห์ ทางภาคใต้ โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้จะมีความยาว 1,541 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองหลวงของเวียดนามและเมืองหลวงทางการเงินทางตอนใต้ โดยคาดว่ารถไฟขบวนใหม่นี้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ช่วยลดการเดินทางเหลือเพียง 5 ชั่วโมงจากเดิมใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง การตัดสินใจครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากสมัชชาแห่งชาติของเวียดนามเรียบร้อยลง โดยโครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 67,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.3 ล้านล้านบาท
คาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มต้นในปี 2570 และเวียดนามหวังว่ารถไฟขบวนแรกจะเริ่มให้บริการภายในปี 2578 รถไฟจะวิ่งผ่าน 20 จังหวัด โดยมีสถานี 23 แห่ง และสถานีขนส่งสินค้า 5 แห่งตลอดเส้นทาง รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะขนส่งทั้งผู้คนและสินค้า และยังให้บริการด้านการป้องกันประเทศด้วย
กระทรวงคมนาคมเวียดนาม ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อความต้องการด้านการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น และการศึกษาหลายชิ้นได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีทางเลือกที่รวดเร็วยิ่งขึ้นในเส้นทางเหนือ-ใต้ โครงการนี้ถือเป็นแกนหลักในการปรับโครงสร้างส่วนแบ่งด้านการขนส่ง และทำหน้าที่เป็นรากฐานสำหรับการก้าวกระโดดของเวียดนามสู่ยุคใหม่ของการเติบโต คาดว่าการลงทุนจะต้องกู้เงินจากต่างประเทศส่วนหนึ่งมาดำเนินการด่งบ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 นครโฮจิมินห์ได้เปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายที่ 1 สถานี Ben Thanh – สถานี Suoi Tien อย่างเป็นทางการ โดยมีระยะทางทั้งหมด 19.7 กิโลเมตร ครอบคลุม 14 สถานี (เป็นสถานีใต้ดิน 3 สถานีในพื้นที่ใจกลางเมือง และสถานียกระดับ 11 สถานี)
Vietnam Plus รายงานว่า การเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความบันเทิงต่าง ๆ เช่น ตลาด Ben Thanh โรงละครโอเปร่า (Saigon Opera House) สำนักงานใหญ่ของสภาประชาชนและคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ ถนนคนเดิน Nguyen Hue และพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ (เขต 1) ตลอดจนตึก Landmark 81 (เขต Binh Thanh – ตึกที่สูงที่สุดในเวียดนาม และเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) สวนสนุก Suoi Tien อนุสรณ์สถาน Hung Kings และวัด Nguyen Huu Canh (เมือง Thu Duc)
นอกจากนี้ การเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายที่ 1 ของนครโฮจิมินห์ ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยลดมลพิษทางอากาศและส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวอัจฉริยะของนครโฮจิมินห์ที่ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว พัฒนาจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอัจฉริยะ รวมทั้งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจอัจฉริยะ ตลอดจนวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว ผ่านการดำเนินการเชิงรุกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ แนวโน้ม และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว
ตลอดปี 2567 นครโฮจิมินห์จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 6 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2566 และนักท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 190 ล้านล้านด่ง (7,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของปีนี้
ถ้าไปดูที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม พบว่า มีรถไฟฟ้าให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย 2A ก๊าตลีง-ห่าโดง (Cat Linh-Ha Dong) และสาย 3 เญิน-ฮานอย (Nhon-Ha Noi) ซึ่งพบว่าได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และคนเวียดนามมาใช้บริการอย่างคึกคัก
นอกจากระบบรางที่เวียดนามกำลังพัฒนาแล้ว พบว่า เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการส่งออกสินค้า ล่าสุด กลุ่ม CMA-CGM ซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์จากฝรั่งเศส และเป็นบริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อันดับ 3 ของโลก ได้ประกาศโครงการเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้า (E-barge) ในประเทศเวียดนาม โดยเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่จะทำการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong) และท่าเรือน้ำลึกเจมาลิงค์ (Gemalink) ในจังหวัดบาเรีย-หวุงเตา ซึ่งกลุ่ม CMA-CGM จะถือหุ้นในโครงการนี้ถึงร้อยละ 25
การเดินทางของเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าในระยะทาง 180 กิโลเมตรแต่ละครั้ง คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ พร้อมกับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 778 ตันต่อปี
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จเรือจะได้รับการสนับสนุนจากฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งสร้างเสร็จที่ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1 กิกะวัตต์/ชั่วโมงต่อปี เรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้านี้ได้รับการออกแบบร่วมกันโดยทีมวิจัยและพัฒนาของ CMA-CGM และผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำอย่าง CATL โดยคาดว่าเมื่อเริ่มดำเนินการในปี 2569 เรือจะสามารถขนส่งสินค้าได้มากกว่า 50,000 TEUs ต่อปี
โครงการนี้ยังสะท้อนถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่าง CMA-CGM และ NIKE แบรนด์กีฬาระดับโลก ซึ่งมีแผนจะใช้เรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสินค้าของ NIKE จากจังหวัดบิ่นห์เยืองไปยังท่าเรือน้ำลึกเจมาลิงค์ โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของเวียดนาม แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านพลังงานทดแทนและโลจิสติกส์ให้เวียดนามอีกด้วย
ที่มาข้อมูล : -