สรุปข่าว
ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างวันที่ 11-26 พ.ย.67 คณะผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและหารือกับหน่วยงานของไทย เช่น กระทรวงการคลัง, ธปท., สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ การเงิน และมุมมองของนโยบายภาครัฐที่สำคัญ
โดยจากที่ IMF ได้ประเมินภาพเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง IMF คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าสอดคล้องกับสอดคล้องกับประมาณการของ ธปท.
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย โฆษก ธปท. ระบุว่า IMF มีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยไม่ต่างจากมุมมองของธปท. ทั้งด้านความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย โดยอาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออก และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการเงินของประเทศได้ รวมถึงความเสี่ยงจากภาระหนี้ของเอกชน ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปถ้าไม่ได้รับการแก้ไข
สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินนั้น IMF มองว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว นโยบายต้องเน้นสร้างช่องว่างการดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น หรือ Policy Space โดยนโยบายการคลังอาจขยายตัวได้น้อยกว่าแผนที่กำหนดไว้ แต่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนนโยบายการเงิน IMF มองว่าปรับลดลงอีก 1 ครั้งก็น่าจะได้ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากปัจจุบันความเสี่ยงในการก่อหนี้ใหม่อาจจะมีไม่มาก เพราะสินเชื่อชะลอตัว
ดร.ชญาวดีบอกเพิ่มเติมว่า IMF ยังแนะนำให้ ธปท.เตรียมพร้อม และปรับนโยบายที่เป็น Data และ Outlook Dependent เพื่อรองรับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนการใช้หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา Moral Hazard ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และการทำกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาหนี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเรื่องการเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -