ธนาคารโลกชี้ศก.จีนซบฉุดเอเชียตะวันออก

สรุปข่าว

ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจตอบครึ่งปีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเติบโตสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด ประเมินว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน ส่วนในปี 2568 มีแนวโน้มโตโตที่ร้อยละ 4.4 จากร้อยละ 4.3 ที่คาดการณ์ไว้เดิม 


ขณะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในภูมิภาค คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในปีนี้ และจะชะลอตัวเหลือร้อยละ 4.3 ในปีหน้า เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนต่ำ รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และความขัดแย้งในระดับโลก


รายงานระบุด้วยว่า นับเป็นเวลา 3 ทศวรรษที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนส่งผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน แต่พลังขับเคลื่อนดังกล่าวกำลังลดลง ประกอบกับนโยบายด้านการคลังของจีนที่เพิ่งส่งสัญญาณเมื่อไม่นานมานี้ อาจช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการปฏิรูปโครงสร้างในระดับที่ลงลึกมากขึ้น


สำหรับเศรษฐกิจในส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในปีนี้ เป็นร้อยละ 4.9 ในปีหน้า แรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่ฟื้นตัว และการท่องเที่ยวที่ฟื้นกลับมา 


ในบรรดาประเทศขนาดใหญ่ มีเพียงอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจน่าจะเติบโตในปีนี้และปีหน้า โดยเป็นการเติบโตในระดับเดียวกับก่อนวิกฤตโควิดหรือสูงกว่านั้น ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม น่าจะต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด ส่วนประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกน่าจะเติบโตร้อยละ 3.5 ในปีนี้ และร้อยละ 3.4 ในปีหน้า เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังคงชะลอตัวทั้งภูมิภาค


“มานูเอลา วี. เฟอโร” รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่การเติบโตเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น เพื่อรักษาการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะกลางไว้ ประเทศในภูมิภาคนี้จะต้องดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงและปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบทางการค้าและเทคโนโลยี


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ธนาคารโลก
เวิลด์แบงก์
world bank
เศรษฐกิจgdpเอเชีย
ตะวันออก
แปซิฟิก