

สรุปข่าว
วันนี้(17ก.พ.64)นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย (TLA) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดธุรกิจประกันชีวิตในปี 2564 โดยคาดว่า จะยังต้องเผชิญต่อปัจจัยที่มีความท้าทายในหลากหลายมิติ เช่น เศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การระบาดของไวรัสโควิด-19 การว่างงาน หนี้สินครัวเรือน สังคมสูงอายุ การฉ้อฉลในธุรกิจ เป็นต้น และด้วยปัจจัยต่างๆทำให้สมาคมคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันรับรวมอยู่ที่ 500,000-610,000 ล้านบาท เติบโตโดยประมาณ -1 ถึง 1% และมีอัตราความคงอยู่ที่ 81-82%
“ปีนี้สมาคมมองว่าเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณ 2.5-3.5% ขณะที่ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจต่างๆยังต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตนับว่าเป็นปีที่มีความท้าทายต่างๆ มากมาย แต่เชื่อมั่นว่าจะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ เนื่องจากประชาชนได้ให้ความสำคัญของการทำประกันชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนมีความตื่นตัวในการทำประกันมากยิ่งขึ้น”นายสาระ กล่าว
ในส่วนของแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต สมาคมมองว่า ผู้ประกอบการจะทยอยปรับลดการขายผลิตภัณฑ์ประเภทออมทรัพย์ที่มีการันตีผลตอบแทน เนื่องจากผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แต่จะหันมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตควบการลงทุนที่เน้นการลงทุนตามความเสี่ยง และจะหันมาเน้นการขายแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว รวมถึงแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมากยิ่งขึ้น
สำหรับภาพรวมตลาดประกันชีวิตในปี 2563 ที่ผ่านมา มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 600,206.48 ล้านบาท ลดลง 1.75% โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 3.82% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 158,238.69 ล้านบาท ลดลง 11.34% ประกอบไปด้วย เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 101,771,12 ล้านบาท ลดลง 6.41% และเบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว 56,467.57 ล้านบาท ลดลง 19.04% และเป็นเบี้ยรับปีต่อไป 441,996.78 ล้านบาท เติบโต 2.21% ซึ่งมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 82%
ในส่วนของช่องการทางการขาย พบว่า ช่องทางตัวแทน ยังคงเป็นช่องทางการขายที่มีสัดส่วนการขายที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำเบี้ยประกันรับรวมได้ที่ 320,348.61 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 57.37% เติบโต 1.42% ช่องทางการขายผ่านธนาคาร มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 231,569.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.58% เติบโตลดลง 5.83% ในส่วนของช่องทางอื่นๆ เช่น ช่องทางโทรศัพท์ ช่องทางดิจิทัล และ ช่องทางไปรษณีย์ มีอัตราส่วนต่อเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 8.05%
ที่มาข้อมูล : -