
รมว.การคลัง เปิดแผนแนวทางรับมือภาษีสหรัฐฯ
นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับมาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าไทยต้องปรับสมดุลการค้า เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) 10% สำหรับสินค้านำเข้าทุกประเทศ และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่ส่งผลให้ไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 37%
ปัจจุบัน ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ราว 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.3-1.4 ล้านล้านบาท จากการส่งออกที่สูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์

สรุปข่าว
แนวทางการเพิ่มนำเข้าสินค้า
1. สินค้าเกษตร
- ไทยอาจนำเข้าข้าวโพดมากขึ้น โดยพิจารณาปรับเงื่อนไขการนำเข้าให้สอดคล้องกับความต้องการ
- เพิ่มการนำเข้าปลาทูน่าเพื่อลดภาระผู้เลี้ยงในประเทศ และเสริมอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง
- ขยายการนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญอีก 4-5 รายการจากสหรัฐฯ
2. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์
- เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อให้สินค้าที่ระบุว่าผลิตในไทยเป็นไปตามมาตรฐาน และลดความเสี่ยงจากข้อครหาการใช้ไทยเป็นฐานส่งออกสินค้าต่างชาติ
การแก้ไขมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers)
ไทยต้องทบทวนมาตรการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้ากับสหรัฐฯ เช่น ภาษีนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สูงถึง 40-80% ซึ่งส่งผลให้แบรนด์อเมริกันอย่าง "ฮาร์เลย์-เดวิดสัน" ขายสินค้าในไทยได้ยาก หากปรับลดภาษีในส่วนนี้ อาจช่วยลดแรงกดดันด้านการค้าระหว่างสองประเทศ
นายพิชัยระบุว่า หากไทยไม่เร่งดำเนินการ อาจส่งผลให้ GDP หดตัวอย่างน้อย 1% อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หากไทยสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น และรักษาสมดุลการค้ากับสหรัฐฯ
"นี่เป็นวิกฤติระดับโลกที่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างประเทศผู้ส่งออกและผู้นำเข้า เราจึงต้องมองว่านี่คือโอกาสในการจัดระเบียบการค้าของไทยใหม่ แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ใน 1-2 เดือน แต่การมีแผนรองรับและเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน" นายพิชัยกล่าว
ที่มาข้อมูล : รมว.การคลัง เ
ที่มารูปภาพ : AFP

ชญาภา ภักดีศรี