"พาณิชย์" เร่งเจรจาสหรัฐ รับขึ้นภาษีสูงกว่าคาด ชี้ "ข้าวหอมมะลิ" อันดับ 1 สินค้าเกษตรกระทบหนักสุด

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 36% โดยยอมรับว่าค่อนข้างตกใจที่เห็นสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้


รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขึ้นมาแล้ว และได้มานั่งวิเคราะห์กันว่า สหรัฐฯ อาจจะใช้คำนวณรวมภาษีโดยตั้งไว้ที่ 72% แล้วหารสอง เหลือ 36%

ต้องบอกว่า ทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด อย่างประเทศไปได้ไปเจรจากับสหรัฐก่อนหน้านี้ อย่างเวียดนาม ก็ถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 46% และญี่ปุ่น 24%

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ ต้องเร่งเจรจากับสหรัฐว่าจะทำอย่างไรให้ลดภาษีนำเข้าตรงนี้ให้ได้ รวมถึงต้องพยายามหาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และได้ติดต่อไปทางสหรัฐแล้วว่า ไทยอยากเข้าไปเจรจา ย้ำว่า "ไม่ได้นิ่งนอนใจ" 

ยืนยันว่า ได้ดำเนินงานอย่างเต็มที่ และติดต่อกับสหรัฐมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ ทางคณะทำงานก็ได้มีการเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะเจรจากับสหรัฐอย่างไร

ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP จะถูกปรับลดลงหรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า ยังไม่รู้ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางทางส่งออกของไทยขณะนี้ยังดีอยู่ โดยสถิติการส่งออกช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 11.8%




"พาณิชย์" เร่งเจรจาสหรัฐ  รับขึ้นภาษีสูงกว่าคาด ชี้ "ข้าวหอมมะลิ" อันดับ 1 สินค้าเกษตรกระทบหนักสุด

สรุปข่าว

รัฐมนตรีพาณิชย์ หอบ 3 มาตรการเร่งเจรจา ทรัมป์ หลังไทยถูกขึ้นภาษี 36 % ชี้ "ข้าวหอมมะลิ" กระทบหนักสุด

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งที่ไทยเตรียมการไปเจรจากับสหรัฐ มี 3 มาตรการ คือ

1. ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ

2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ยังไม่เคยนำเข้า

3. ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การตรวจสอบสินค้าที่อาจอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย


พร้อมยืนยันว่า ไทย พร้อมเจรจากับสหรัฐ ซึ่งไทยเคยทาบทาม ขอเป็นเจรจาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับ หากสหรัฐพร้อมเจรจา ไทย ก็พร้อมเดินทางไปเจรจาทันที

อีกทั้งมองว่า อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 10 สินค้า ที่ส่งออกไปสหรัฐสูงที่สุด อาทิ สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า


ส่วนสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ คือสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐมากที่สุด 15 อันดับแรก เช่น ข้าวหอมมะลิ



15 รายการสินค้าส่งออกของไทย กระทบภาษี"ทรัมป์"

ทั้งนี้กลุ่มของสินค้าส่งออกไทยที่มีส่งออกไปยังสหรัฐสูงสุด และคาดว่าจะรับผลกระทบการออกมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568   มีทั้งหมด 15 รายการ  ดังนี้  


1.  โทรศัพท์มือถือ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 6,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 6,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ยางรถยนต์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 3,513 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

4. เซมิคอนดักเตอร์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 2,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. หม้อแปลงไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 2,088 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

6. ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,501 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

7. ชิ้นส่วนรถยนต์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

8. อัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,387 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

9. เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

10. กล้องถ่ายรูป มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

11. เครื่องพรินเตอร์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 1,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

12. วัตถุดิบอาหารสัตว์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

13. แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 861 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

14. ข้าว มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ *** (สินค้าเกษตรที่คาดว่ากระทบหนักสุด) 

15. ตู้เย็น มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ ปี 67 เท่ากับ 742 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นอกจากนี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (3 เมษายน 2568) จะเข้าหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงมาตรการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย และคาดว่าจะใช้งบประมาณช่วยเหลือจากงบกลาง

ที่มาข้อมูล : รัฐบาลไทย กระทรวงพาณิชย์

ที่มารูปภาพ : รัฐบาล

avatar

ทิฆัมพร อยู่กำเหนิด