

สรุปข่าว
“เศรษฐา” “เผย “สี จิ้นผิง” สนใจแลนด์บริดจ์
วันที่ 20 ตุลาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงผลการหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นไปด้วยดี บรรยากาศเป็นไปด้วยความจริงใจและมิตรภาพที่แท้จริง แลกเปลี่ยนด้านการค้าหลายๆด้าน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และมีการเกริ่นถึงโครงการ แลนด์บริดจ์ ให้ ประธานาธิบดีจีนได้ทราบ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประธานาธิบดีจีน
สำหรับ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย มีที่มา ที่ไป อย่างไร? ไทยจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน TNNOnline จะมาอธิบายให้ฟัง
"แลนด์บริดจ์" คืออะไร?
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยอันดามันหรือ "แลนด์บริดจ์" เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมโดยกระทรวงคมนาคมพัฒนาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ
สร้างท่าเรือชุมพรให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัยนำระบบ Automation มาใช้ก้าวสู่สมาร์ทพอร์ตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาให้เป็นสภาเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
พัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์และเป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองและท่าเรือกลุ่มแถบเอเชียใต้
พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมอเตอร์เวย์และรถไฟทั้งคู่และการขนส่งทางท่อโดยก่อสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกันตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนว เส้นทางรถไฟทั้งคู่
สำหรับ โครงการ แลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย
โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร
โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร – ระนอง
โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย
ทำไม “ไทย” ต้องมี "แลนด์บริดจ์" ?
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออก ผ่านทางช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งมีสภาพเส้นทางอ้อมและมีระยะไกล การขนส่งล่าช้า ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น การจราจรทางน้ำคับแคบ ความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึงปีละ 100,000 ลำปี และในปี 2567 ประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเรือจะเต็มศักยภาพ และคาดว่าปี 2593 ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า
สรุปประโยชน์สั้น ๆ ของ "แลนด์บริดจ์"
1. ช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือ จากไทย ไป เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และ ยุโรป ได้ถึง 2 วัน ครึ่ง จากเดิมผ่านช่องแคบมะละกา 9 วัน เหลือ 5 วัน
2. ลดความแออัดของจราจร ผ่านช่องแคบมะละกา ของสิงคโปร์
3. หากโครงการ "แลนด์บริดจ์" แล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องถึง 10 ปี
4. เกิดโอกาสการจ้างงาน เพิ่มอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่
2 พื้นที่ทอง ที่เหมาะสมที่สุด
ท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน คือ จังหวัดระนอง พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้า ได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยัง "แลนด์บริดจ์" รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือ ในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่
3 กลุ่มคู่ค้า สำคัญ! เมื่อไทยอยู่ใจกลางคาบมหาสมุทรอินโดจีน
ประเทศไทย มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใจกลางคาบมหาสมุทรอินโดจีน มีคู่ค้าที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวมทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 15
2. กลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรอินเดียมีมูลค่าการค้ารวมทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 25
3. กลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรแปซิฟิกมีมูลค่าการค้ารวมทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 60
การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างชายฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยจะทำให้ไทย
1. เป็นเส้นทางลัดของเส้นทางเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิค
2. ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการ ขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว
3. ยกระดับท่าเรือไทยให้ทันสมัยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ให้ได้มาตรฐานระดับโลก
4. ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ทีมข่าว TNNOnline ได้ตรวจสอบข้อมูลของโครงการ "แลนด์บริดจ์" จาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยระบุประโยชน์ที่ไทยจะได้รับดังนี้
- โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยอันดามันหรือ "แลนด์บริดจ์" จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค
- เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค
- เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งสินค้าทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
- ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนสร้างโอกาสสร้างงานและรายได้
โครงการแลนด์บริดจ์ จะแล้วเสร็จภายในปี 2582 ขณะนี้ โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาและลงทุนโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตามแผนการดำเนินงานจะมีการจัดประชุมทดสอบความสนใจและรับฟังความเห็นของภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนที่มีต่อโครงการฯ เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเป็นไปในการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป
สำหรับโครงการนี้จะให้เอกชนลงทุน 100% โดยรัฐจะลงทุนเฉพาะค่าเวนคืนเท่านั้น เนื่องจากวงเงินลงทุนมีมูลค่าสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจประมาณ 2 - 3 ราย แต่เงียบไป ดังนั้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมีความสนใจในโครงการมากขึ้น กระทรวงคมนาคม จะต้องไปทำ Roadshow เพื่อรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างในประเทศ ทั้งในจีน ยุโรป อเมริกา และประเทศอื่น ๆ
ที่มา : TNNOnline รวบรวมข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
ภาพ : รัฐบาลไทย
ที่มาข้อมูล : -