
"ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เปลี่ยนไปมาตรา 39 อาจได้เงินบำนาญลดลงเหลือเพียง 1,000 บาท เข้าใจเงื่อนไข คำนวณเงินบำนาญ และป้องกันการเสียสิทธิ์"
ในช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคม เกี่ยวกับปัญหาเงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะกรณีของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมานานเกิน 180 วัน แต่เมื่อลาออกจากงานและเปลี่ยนมาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 กลับพบว่าเงินบำนาญที่ได้รับลดลงอย่างน่าตกใจ จากที่ควรได้รับประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียงเดือนละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้น

สรุปข่าว
ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินบำนาญของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งพิจารณาจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยย้อนหลัง 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ หากผู้ประกันตนเปลี่ยนจากมาตรา 33 ไปเป็นมาตรา 39 ฐานเงินเดือนจะถูกลดลงเหลือเพียง 4,800 บาทต่อเดือน ส่งผลให้เงินบำนาญที่ได้รับลดลงอย่างมาก แม้ว่าจะเคยส่งเงินสมทบในมาตรา 33 ด้วยฐานเงินเดือนที่สูงกว่ามากก็ตาม
สำหรับรายละเอียดของฐานเงินเดือนเพื่อใช้คำนวนเงินบำนาญชราภาพมาตรา 33 และ มาตรา 39 มีรายละเอียดดังต่อไปนี่
ฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณ
- มาตรา 33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- มาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือนคงที่ที่ 4,800 บาท
จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับของทั้ง 2 มาตรา
- มาตรา 33 ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ไม่เกิน 15,000 บาท) ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ ก่อนสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
- มาตรา 39 ได้รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิตในอัตรา 20% ของฐานค่าจ้างคงที่ 4,800 บาท
เงื่อนไขของการได้รับ ทั้งมาตรา 33 และ 39 ต้องจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป จึงจะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ ถ้าจ่ายไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จแทน โดยผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ สามารถเลือกขอรับเป็นบำเหน็จ หรือเงินก้อนแทนได้
อย่างไรก็ตามหากมีการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ จากอัตราร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
สรุปคือ มาตรา 33 จะได้รับเงินชราภาพที่คำนวณจากฐานเงินเดือนจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่ มาตรา 39 จะได้รับเงินชราภาพคำนวณจากฐานเงินเดือนคงที่ 4,800 บาท ทำให้ผู้ประกันตนทั้งสองมาตราได้รับเงินชราภาพไม่เท่ากัน และ เมื่อผู้ประกันตนลาออกจากมาตรา 33 มาส่งเงินสมทบต่อในมาตรา 39 ช่วง 60 เดือนสุดท้าย เมื่อถึงเกณฑ์ได้รับเงินบำนาญชราภาพก็จะคิดตามฐานเงินเดือน 4,800 บาท
อย่างไรก็ตามยังมีกรณีของผู้ประกันตนที่เลือกส่งเงินสมทบมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม เพื่อที่จะกลับเข้ามาตรา 33 อีกครั้ง ซึ่งในระหว่างท่ียังไม่ได้เข้าระบบ ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี (กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ) ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
จากกรณีนี้บนเพจผู้บริโภคที่มีการแชร์ปัญหาดังกล่าวลงบนหน้าเพจ ทำให้ชาวเน็ตหลายรายถึงขนาดออกมาแสดงความเห็นกันว่า หากส่งประกันสังคมในมาตรา 33 มานานแล้ว และ ลาออกจากงาน ไม่ควรส่งมาตรา 39 เพราะจะ “ขาดทุน” ให้รอเงินบำเหน็จชราภาพเพื่อรับเงินก้อนรักษาสิทธิที่เคยทำงานทำงานมาเกือบครึ่งชีวิต
เงินบำเหน็จชราภาพคืออะไร?
บำเหน็จชราภาพ จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียวในกรณีผู้ประกันตนอายุ 55 ปีจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน หรือในกรณีที่ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญ ดังนี้
- จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินคืนเฉพาะในส่วนเงินสมทบของลูกจ้าง
- จ่ายเงินสมทบ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้รับเงินคืนในส่วนของเงินสมทบของนายจ้าง ลูกจ้าง และผลตอบแทน
- กรณีผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญ
กรณีนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่เคยส่งเงินสมทบในมาตรา 33 และเปลี่ยนไปมาตรา 39 โดยไม่ทราบถึงผลกระทบต่อเงินบำนาญในอนาคต โดยหลายฝ่ายได้เสนอแนะ สำนักงานประกันสังคม ควรให้ข้อมูลชัดเจนแก่ผู้ประกันตน เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนมาตรา เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไป เนื่องจากกระทบกับสิทธิประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
ที่มาข้อมูล : กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ที่มารูปภาพ : AFP