วิกฤตคุณแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม-มีเซ็กส์เร็วขึ้น ปัญหาสังคมที่ไม่ควรมองข้าม

ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างประชากรที่ลดลงของประเทศไทย แต่เมื่อหันไปดูปัญหากลุ่มวัยรุ่น หรือ กลุ่มวัยใส ที่ไม่ใช่กลุ่มคนที่เหมาะสมในการมีลูก หรือ เจริญพันธุ์ ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อมกลับพบว่ามีการตั้งครรภ์ หรือ มีความเสี่ยงจะตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

แม้จะมีความพยายามในการลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น โดยคณะกรรมการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นรายงานว่า อัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมลดลงเหลือ 25 ต่อ 1,000 ประชากร และตั้งเป้าให้เหลือ 15 ต่อ 1,000 ประชากรภายในปี พ.ศ. 2570  แต่ในความเป็นจริงกลับพบสถานการณ์ที่น่ากังวล โดยเฉพาะสำหรับเด็กในวัน 10 – 14 ปี ที่พบสถิติการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มสูงขึ้น 


วิกฤตคุณแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม-มีเซ็กส์เร็วขึ้น ปัญหาสังคมที่ไม่ควรมองข้าม

สรุปข่าว

ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นไทย ที่มีสาเหตุหลักมาจากความขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทาย แม้จะมีความพยายามในการแก้ไข เพราะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมในหลายด้าน เช่น วงจรความยากจน สุขภาพ และปัญหาทางจิตใจ

เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เสี่ยงตั้งครรภ์พุ่งสูงขึ้น

น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดข้อมูลกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่รายงาน ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2567 พบว่า อัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 10-14 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 0.93 ต่อพันคน เกินเป้าหมายที่กำหนดจากข้อมูล DOH Dashboard ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 0.77 ต่อพันคน เกินกว่าเป้าหมายของ UN ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.7 ต่อพันคน

สถิติข้างต้นอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะเมื่อไปดูตัวเลขความเสี่ยงของเด็กกลุ่มนี้ก็พบว่าตัวเลขค่อนข้างสูง โดยข้อมูลการให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน 1663 พบว่ายอดขอคำปรึกษาเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น 10-14 ปี ในปี 2567 มีการขอรับคำปรึกษาเรื่อง ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ผ่านช่องทางออนไลน์และสายด่วน รวม 46,893 ราย หรือเฉลี่ย 128 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 44,574 ราย


ตั้งครรภ์ไม่พร้อมกระทบต่อโครงสร้างสังคม

ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมไทยในหลายมิติ 

1. ผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอาจนำไปสู่การเกิดที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรในระยะยาว 

2. วงจรความยากจนข้ามรุ่น แม่วัยรุ่นมักประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากขาดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน ส่งผลให้ครอบครัวอยู่ในภาวะยากจน ซึ่งอาจส่งต่อไปยังรุ่นลูก ทำให้เกิดวงจรความยากจนที่ยากจะหลุดพ้น 

3. ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งในมารดาและทารก เช่น ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง และการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ วัยรุ่นอาจขาดความรู้และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทำให้ปัญหาสุขภาพยิ่งซับซ้อนขึ้น 

4. ผลกระทบทางจิตใจและสังคม แม่วัยรุ่นอาจเผชิญกับความเครียด ความกดดัน และการถูกตีตราจากสังคม ส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรอย่างเหมาะสม 

 5. ความรุนแรงเชิงโครงสร้างสังคม สังคมที่ไม่ยอมรับหรือสนับสนุนแม่วัยรุ่น อาจนำไปสู่การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์หรือการเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ 

การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นจึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและลดผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมในระยะยาว

 

โรคเพศสัมพันธ์ในเด็กความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่รู้

สาเหตุหลักของปัญหาท้องไม่พร้อมในแม่วัยใสพบว่าเป็นเพราะขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา การถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงความต้องการตั้งครรภ์เอง  จะเห็นได้ว่าแม้การเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศศึกษา การป้องกันตั้งครรภ์จะมีอยู่มากมายในโลกออนไลน์ แต่กลับเข้าไม่ถึงเด็กยุคใหม่ ซึ่งนอกจากปัญหาท้องไม่พร้อม ยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่เผชิญปัญหากับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย 

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม ผลการสำรวจเผยให้เห็นแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของเยาวชนไทย

 


แนวโน้มเด็กไทยมีเซ็กส์ครั้งแรกอายุน้อยลง

ผลสำรวจพบว่า เยาวชนมีแนวโน้มเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่น้อยลง โดยอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 12-16 ปี ที่น่าตกใจคือ ประมาณ 24% ของเยาวชนเหล่านี้ ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ มีเพียง 43% เท่านั้น

พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี พ.ศ. 2566 จำนวนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 โดยอัตราป่วยเพิ่มจาก 11 ต่อประชากรแสนคน เป็น 28.1 ต่อประชากรแสนคน 

สถิติผู้ป่วยโรคซิฟิลิสย้อนหลัง 5 ปี

ปี พ.ศ. 2563: 11,341 ราย

ปี พ.ศ. 2564: 10,275 ราย

ปี พ.ศ. 2565: 14,008 ราย

ปี พ.ศ. 2566: 19,980 ราย

ปี พ.ศ. 2567 (ข้อมูลถึงวันที่ 25 ตุลาคม): 21,538 ราย

เมื่อพิจารณาในกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด โดยในปี พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 8,925 ราย แต่ที่น่าตกใจ คือ เด็กกลุ่มเด็กอายุ 1-14 ปี ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากถึง 1,105 ราย

ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น หรือที่เรียกว่า "วิกฤตแม่วัยใส" ยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขและป้องกันอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขทางสถิติสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการแก้ไข และ ป้องกันปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมในเด็กได้เป็นอย่างดี  การให้ความรู้ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และการสนับสนุนจากสังคมน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์