ทำไมต่างชาติ ยังคิดว่าไทยใช้ “ลิง” เก็บมะพร้าว ทำกะทิ ?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ หรือ PETA ออกมาประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ของอังกฤษ พร้อมทั้งใส่ชุดลายตารางขาวดำเหมือนนักโทษ ถือป้ายทรงลูกมะพร้าวและเขียนข้อความ “ลิงถูกทรมาณเพื่อผลิตกะทิไทย” และราดกะทิไทยลงไปที่ตัว เพื่อเรียกร้องสิทธิของลิง จนทำให้เกิดกระแสแบนกะทิไทยอีกครั้ง 


เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ทาง PETA เรียกร้องให้เกิดการแบนสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตมาจากมะพร้าวของไทย แต่ทางองค์กรได้พูดถึงเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทบต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวไทย แม้ว่าไทยจะพยายามชี้แจง และวางมาตรการต่าง ๆ แต่ความเชื่อเรื่องยังไม่เคยหายไปไหน 


PETA แฉไทยทรมาน “ลิง” เก็บมะพร้าว แบนกะทิไทย


จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ต้องย้อนไปช่วงปี 2563 เมื่อองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ หรือ PETA ออกมาแฉว่า ประเทศไทยทารุณกรรมสัตว์ โดยชี้ว่า มีโรงเรียนฝึกลิงเก็บมะพร้าว ด้วยวิธีทรมาน เพื่อให้ลิงเหล่านี้ เชื่อฟังมนุษย์ ขึ้นไปเก็บมะพร้าว เพื่อทำเป็นสินค้าขายส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ จนทำให้เกิดกระแสแบนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวของไทย 


ล่าสุด ทางกลุ่ม PETA ได้ออกมาประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ของอังกฤษ พร้อมทั้งใส่ชุดลายตารางขาวดำเหมือนนักโทษ ถือป้ายทรงลูกมะพร้าว และเขียนข้อความ “ลิงถูกทรมาณเพื่อผลิตกะทิไทย” และราดกะทิไทยลงไปที่ตัว เพื่อเรียกร้องสิทธิของลิง จนทำให้เกิดกระแสแบนกะทิไทยอีกครั้ง 


“โรงเรียนฝึกเก็บมะพร้าวของไทย เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ยาก ที่ลูกลิงต้องถูกพรากจากอ้อมอกแม่ ปราศจากทุกสิ่งที่เป็นธรรมชาติและสำคัญต่อลิงเหล่านี้ และถูกล่ามโซ่เอาไว้จนกว่าพวกมันจะตาย” เทรซี่ ไรแมน รองประธานบริหาร PETA กล่าว


“PETA ขอเรียกร้องให้ซื้อกะทิจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ลิงเป็นแรงงาน เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และขอรัฐบาลไทย สั่งปิดโรงเรียนฝึกที่ทรมานสัตว์เหล่านี้เสีย” เธอ กล่าว 


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดกระแสในกลุ่มชาวต่างชาติบางส่วน แบนการซื้อสินค้าที่ผลิตมาจากมะพร้าวไทย โดยเฉพาะ “กะทิ” ที่ถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศ 


ไทยโต้ใช้แต่ “แรงงานมนุษย์” เท่านั้น


หลังเกิดการตีแผ่แฉประเทศไทยจาก PETA ได้ไม่นาน ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ในอังกฤษ ออกมาชี้แจงทันทีว่า อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น" ส่วนการใช้ลิงในสวนภาคใต้ เป็นเรื่องท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับอุตสาหกรรม


พร้อมเผยว่า บรรดาผู้ผลิตกะทิไทยรายใหญ่ของประเทศ ยืนยันว่าไม่มีการใช้ลิงในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด 


“การเก็บมะพร้าวในไทยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเป็นการใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น" ที่ใช้ไม้สอยตามวิธีดั้งเดิม โดยตัดครั้งเดียวได้มะพร้าว 10-30 ลูก ซึ่งไม่สามารถทำโดยลิงได้” สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ระบุลงในแถลงการณ์


ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น (ปี 2563) กล่าวว่า ประเด็นนี้ เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การใช้ลิงเก็บมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยว  ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่มีการใช้ลิงมาเก็บมะพร้าวแต่อย่างใด


ทั้งนี้ เกษตรกรไทย ตลอดจนคนไทยด้วยกัน ต่างก็ทราบกันดีว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเกิดขึ้นแค่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมายาวนานถึงร้อยปี และส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบครอบครัว

ทำไมต่างชาติ ยังคิดว่าไทยใช้ “ลิง” เก็บมะพร้าว ทำกะทิ ?

สรุปข่าว

ไทยผลิตมะพร้าว-ส่งออกกะทิรายสำคัญของโลก 


ปี 2566 ไทยมีผลผลิตมะพร้าวคิดเป็น 9.4 แสนตัน ขณะที่ มีความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 1.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.35% จากปี 2565 ความต้องการใช้ของไทยแบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 38% และการใช้เพื่อส่งออก 62% 


ไทยถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกกะทิรายใหญ่ของโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกกะทิไปยัง 131 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 12,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.85% จากปีก่อนหน้า 


ส่วนใหญ่ไทยส่งออกกะทิสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 93.13% โดยไทยส่งออกกะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ปี 2567 เพิ่มขึ้น 36.83% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 70.5% เนเธอร์แลนด์ 10.43% และสวิตเซอร์แลนด์ 6.21% 


ความเชื่อที่ไม่เคยหายไป 


แม้ว่า ไทยจะพยายามอธิบาย วางมาตรการ สร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับว่าไม่ได้มีการทารุณกรรมสัตว์ เพื่อนำมาผลิตสินค้าใด ๆ ทั้งสิ้น แต่องค์กร PETA ก็ยังยืนยันหนักแน่นว่า “กะทิไทย ผลิตมาจากแรงงานลิง ด้วยการใช้วิธีทรมานสัตว์” พร้อมกับรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 


แต่สำหรับ การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ไทยยังคงใช้คนเป็นผู้เก็บมะพร้าวเหล่านี้ เพื่อเป็นวัตถุดิบของสินค้าที่ทำจากมะพร้าว 


นอกจากนี้ ไทยก็มีกฎหมายป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งถ้าหากมีการทารุณกรรมลิง เพื่อใช้เก็บมะพร้าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


การประท้วงครั้งล่าสุดของ PETA แน่นอนว่า เรื่องนี้ค่อนข้างกลับมากระทบกับอุตสาหกรรมสินค้าที่ทำจากมะพร้าวไทยอีกครั้ง เพราะมีทั้งเซเลป ดาราบางส่วนออกมาสนับสนุนการกระทำขององค์กร PETA 


ยกตัวอย่างเช่น ไมค์ ไวท์ ผู้กำกับซีรีส์ The White Lotus ออกมาเผยว่า เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการถ่ายทำซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 บนเกาะสมุย มันเป็นสถานที่ที่สวยงามมาก แต่ก็ต้องรู้สึกตกใจ เมื่อได้รับรู้จากเพื่อนที่ทำงาน PETA ว่า สถานที่แห่งนี้ และที่อื่น ๆ ในไทย บังคับใช้แรงงานลิง เพื่ออุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย 


“ผมขอเรียกร้องให้หยุดการเอารัดเอาเปรียบต่อเพื่อนร่วมโลกของเรา” ไมค์ ไวท์ กล่าว 


ความเชื่อเรื่องการทรมานลิง เพื่อใช้ในระดับอุตสาหกรรมยังคงอยู่ คล้ายกับกรณีชาวต่างชาติบางคนที่มองว่า คนไทยยังขี่ช้างไปโรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ไทยต้องสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นให้แก่นานาชาติต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://investigations.peta.org/thai-coconut-milk-cruelty/

https://www.peta.org/media/news-releases/first-look-at-endangered-baby-monkeys-chained-abused-at-thai-coconut-industry-tourist-trap/

https://x.com/peta/status/1892959955352711384

https://www.bbc.com/thai/thailand-53418119

https://www.thaipbs.or.th/news/content/294332

https://tpso.go.th/news/2412-0000000057

ที่มาข้อมูล : PETA, BBC, ThaiPBS, TPSO

ที่มารูปภาพ : PETA

avatar

พรวษาภักตร์ดวงจันทร์
()