แดนสวรรค์แรงงานข้ามชาติ เจาะลึกเมียนมาทาวน์ - ต่างด้าวแย่งงาน?

ประเทศเมียนมาที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาความขัดแย้งภายในทำให้โอกาสในการทำมาหากินภายในประเทศลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนแทบทุกกลุ่มในเมียนมาอยู่ภายในแผ่นดินเกิดของตัวเองไม่ได้ หลายคนต้องหนีความยากจน ความไม่มั่นคง และความแร้นแค้นเข้าสู่ประเทศไทย

ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางสำคัญของแรงงานเมียนมา ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานพบว่า ในเดือนมกราคม 2568 มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในระบบแรงงานของไทย รวมทั้งสิ้น 1,325,348 คน หรือ คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ อุตสาหกรรมของไทย 


แดนสวรรค์แรงงานข้ามชาติ เจาะลึกเมียนมาทาวน์ - ต่างด้าวแย่งงาน?

สรุปข่าว

หากมองแรงงานเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นคู่แข่งแย่งอาชีพและมองด้วยความเข้าใจ ความขัดแย้งทางสังคมอาจลดลง และเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตไปพร้อมกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างยั่งยืน

เมียนมาทาวน์ ต่างด้าวแย่งงาน

สมุทรสาคร โดยเฉพาะเมืองมหาชัย ถือเป็นพื้นที่ดงโรงงานอุตสาหกรรมทำให้เป็นจุดที่แรงงานชาวเมียนมากระจุกกตัวอยู่มากที่สุด ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์หากใครผ่านไปในละแวกนั้นจะเห็นหนุ่ม-สาว ชาวเมียนมาแต่งกายด้วยชุดที่มีอัตลักษณ์ของชาวเมียนมา หรือ การแต่งกายที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ของตนเอง 

โดยเฉพาะตลาดไทยยูเนียนที่มีสภาพไม่ต่างกับ “เมียนมาทาวน์” ทั้งผู้คน สินค้า บรรยากาศ หรือ แม้แต่ตู้ ATM และ  ป้ายโฆษณา ที่มีกลิ่นอายของเมียนมามากกว่าไทย ด้วยความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม การกิน การอยู่ อาจจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจที่คนไทยไม่เข้าใจคนเมียนมา โดยเฉพาะคนจากต่างพื้นที่ ที่หลงเข้ามาในบริเวณดังกล่าวจะรู้สึกประหลาดใจ หรือ ตั้งคำถามว่า “แรงงานพม่ากำลังแย่งอาชีพคนไทย” หรือไม่ 

นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ยอมรับว่าพื้นที่อย่างมหาชัยและบ้านแพ้วกลายเป็นศูนย์กลางของแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ซึ่งการที่มีการรวมตัวของชาวเมียนมาจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นชุมชนขนาดย่อม ที่มีทั้งสินค้า และ อาหารพื้นเมืองของเมียนมาเข้ามาจำหน่าย เพราะมีความต้องการสูงจากแรงงานชาวเมียนมา


ตลาดของคนเมียนมา กับ เศรษฐกิจท้องถิ่น 

เมื่อสินค้า และ อาหารเมียนมามีความต้องการสูงนั่นทำให้เริ่มมีแรงงานเมียนมาจำนวนไม่น้อยหันมาเริ่มทำธุรกิจของตนเอง เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านขายของใช้เมียนมา ซึ่งนายสมพงษ์ มองว่าข้อกล่าวหาที่ว่า “แรงงานพม่ากำลังแย่งอาชีพคนไทย” อาจเป็นข้อขัดแย้งทียังต้องมีการถกเถียง และหาทางออก

โดย ผอ.มูลนิธิ LPN มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและแรงงานเมียนมาไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจมากกว่า 

“ความจริงแล้ว แรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในอาชีพที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยม เช่น งานใช้แรงงาน งานที่ค่าจ้างต่ำ หรือธุรกิจที่มุ่งเป้าไปยังชุมชนแรงงานข้ามชาติเอง การที่ร้านค้าของคนเมียนมาเติบโตขึ้นในบางพื้นที่เกิดจากการที่พวกเขาเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนเดียวกัน ซึ่งคนไทยอาจไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ”   

แม้ว่าจะมีความรู้สึกต่อต้านแรงงานข้ามชาติในคนไทยบางกลุ่ม แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจของไทยและแรงงานเมียนมามีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ร้านค้า โรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก ล้วนได้รับผลประโยชน์จากการมีแรงงานเมียนมาอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหอพัก วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เกษตรกรสวนพลู ตลาดของคนเมียนมาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจท้องถิ่น 

ไทยอยู่ได้ เพราะแรงงานเมียนมาอยู่ด้วย

ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ แรงงานเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พวกเขาไม่เพียงแค่ทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ยังเป็นผู้บริโภคที่ช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับรากหญ้า "สมพงษ์ สระแก้ว" จึงมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แรงงานเมียนมาแย่งอาชีพคนไทย แต่อยู่ที่ไทยจะออกแบบนโยบายอย่างไรให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถทำงานได้อย่างเป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม

“เขาอยู่ได้ เราอยู่ดี คำกล่าวนี้สะท้อนความจริงว่า หากเรามองแรงงานเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นคู่แข่ง ความขัดแย้งทางสังคมก็จะลดลง และเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตไปพร้อมกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างยั่งยืน”  สมพงษ์ ทิ้งท้าย

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์