
วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2568 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย เมื่อรัฐสภาเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่พรรคเพื่อไทยยื่นเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256? -
มาตรา 256 เป็นมาตราที่กำหนดกระบวนการและเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันมีข้อจำกัดที่ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างน้อยหนึ่งในสาม และต้องมีเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ทำให้ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้เพียงครั้งเดียว การแก้ไขมาตรานี้จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเปิดทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- ประเด็นสำคัญของการแก้ไข -
ร่างแก้ไขมีจุดเปลี่ยนสำคัญสองประการ คือ การยกเลิกเงื่อนไขเสียง สว. และเสียง ส.ส. ฝ่ายค้าน และการเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนจะได้เลือกผู้แทนมาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง

สรุปข่าว
- โครงสร้างและการทำงานของ สสร. -
การเลือกตั้ง สสร. จะจัดขึ้นภายใน 60 วัน โดยผู้สมัครต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 47 คน ประกอบด้วย สสร. 24 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 23 คน โดยมีเวลาทำงาน 180 วัน
- กระบวนการพิจารณาและการมีส่วนร่วม -
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น รัฐสภาจะมีบทบาทในการพิจารณาและเสนอความเห็น โดย สสร. ต้องพิจารณาข้อเสนอภายใน 30 วัน และต้องได้รับการยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของ สสร. ทั้งหมด ก่อนจะนำไปสู่การทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจขั้นสุดท้าย
- ความหวังสู่การเปลี่ยนแปลง -
แม้ที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะล้มเหลวมาแล้วถึง 26 ครั้ง แต่ครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อีกทั้งยังสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 หากกระบวนการเป็นไปตามกำหนด ประเทศไทยอาจได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 นับเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ที่มาข้อมูล : TNN รวบรวม / เรียบเรียง
ที่มารูปภาพ : Freepik / TNN