โรงงาน “รีดไข่” มนุษย์ หญิงไทยตกเป็นเหยื่อ เซ่นสวรรค์อุ้มบุญจอร์เจีย

จากข่าวหญิงไทยถูกบังคับรีดไข่ ส่งไปขายที่จอร์เจีย กลายเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ ของขบวนการค้ามนุษย์ ที่อาจโยงไปถึงตลาดค้าอวัยวะ โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายของประเทศจอร์เจีย


เมื่อการอุ้มบุญแบบเชิงพาณิชย์ถูกกฎหมายในบางประเทศ สิ่งนี้ อาจจะกลายเป็นจุดอ่อนที่อาจนำพาไปสู่การค้ามนุษย์ข้ามชาติได้ 


---หญิงไทยร้อง “ปวีณา” ถูกลวงไปรีดไข่ในจอร์เจีย--- 


มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี นำโดย ปวีณา หงสกุล ได้รับแจ้งว่า มีหญิงสาวชาวไทยถูกล่อลวงให้ไปทำงานอุ้มบุญ แต่แท้จริงแล้วกลับถูกบังคับให้ขายไข่โดยไม่มีทางเลือก ขบวนการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การค้าสุขภาพของเหยื่อ แต่ยังอาจโยงไปถึงการค้าอวัยวะมนุษย์ที่รุนแรงยิ่งขึ้น


หญิงไทยหลายราย เปิดเผยว่า พวกเธอถูกหลอกผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมีการชักชวนว่าการอุ้มบุญในจอร์เจียเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย และได้รับค่าตอบแทนสูงถึง 400,000-600,000 บาท 


แต่เมื่อเดินทางถึงกลับถูกกักตัว ยึดหนังสือเดินทาง และบังคับให้เข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไข่ เพื่อให้ได้ปริมาณที่สามารถขายได้


เหยื่อบางคนเผยว่า หากต้องการกลับบ้าน ต้องยอมให้ขบวนการรีดไข่ 3 ครั้งเพื่อแลกกับการปล่อยตัว หรือจ่ายเงินค่าปรับสูงถึง 50,000 บาท ทำให้หลายคนต้องจำใจอยู่ต่อและถูกบังคับขายไข่ซ้ำๆ โดยไม่มีสิทธิ์เลือก บางคนถูกปล่อยให้หิวโหย และถูกขู่ฆ่าหากพยายามหลบหนี

โรงงาน “รีดไข่” มนุษย์  หญิงไทยตกเป็นเหยื่อ  เซ่นสวรรค์อุ้มบุญจอร์เจีย

สรุปข่าว

---สวรรค์อุ้มบุญจอร์เจีย--- 


จอร์เจียเป็นประเทศที่การอุ้มบุญเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ทั้งในแง่ของการอุ้มบุญเพื่อการกุศล และอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ 


ด้วยเหตุนี้ จีงทำให้กลายเป็นประเทศแห่งความหวังสำหรับพ่อแม่ทั่วโลก ที่ต้องการมีลูกแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้มาใช้บริการ รวมถึงสวรรค์ของหญิง ที่หวังจะพลิกชีวิต ด้วยรายได้จากการอุ้มบุญ หวังร่ำรวยจากการตั้งท้องแทนคนอื่น


ข้อมูลจาก Global Market Insights คาดการณ์มูลค่าอุตสาหกรรมการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทั่วโลก 2024 อยู่ที่ประมาณ 22,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 752,00 ล้านบาท โดยคาดว่า ปี 2032 ตลาดนี้จะมีมูลค่าเติบโตสูงถึง 129,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.36 ล้านล้านบาท 


ด้วยตัวเลขที่มีมูลค่าสูงนี้ กอปรกับความต้องการมีลูกจากครอบครัวที่มีปัญหาการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น จึงทำให้ธุรกิจการตั้งครรภ์เชิงพาณิชย์เติบโตขึ้นอย่างมากในจอร์เจีย และทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ แสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจอร์เจียได้ออกมาเผยเมื่อปี 2023 ว่าจะไม่ให้ชาวต่างชาติมาใช้บริการอุ้มบุญในประเทศได้อีกต่อไป เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภันของตัวแม่อุ้มบุญและเด็ก และความเสี่ยงของการค้ามนุษย์ 


---เพราะ “ความจน” ผลักให้หญิงเอเชีย รับจ้างอุ้มบุญ---


การรับจ้างอุ้มบุญไม่ได้มีเพียงแค่หญิงไทยเท่านั้น แต่หญิงเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มาจากประเทศยากจน ตั้งแต่เอเชียกลาง ไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็เลือกก้าวเข้าสู่วงการอุ้มท้องแทนคนอื่น โดยส่วนใหญ่ จะได้เงินค่าจ้างตกอยู่ราว 6.74-9.1 แสนบาทต่อการท้อง 1 ครั้ง 


“ผู้อำนวยการคลินิก บอกข่าวดีกับฉันว่า พวกเขา (พ่อแม่ที่ต้องการจ้างอุ้มบุญ) จะใช้หนี้ทั้งหมดให้ และบอกฉันว่า ไม่ต้องกังวล เขาบอกให้ฉันอยู่ที่จอร์เจียเป็นเวลา 1 เดือน และเมื่อหัวใจของทารกเริ่มเต้น ฉันสามารถกลับไปคีร์กีซสถาน อยู่กับลูกของฉันได้จนกว่าจะคลอด และพวกเขาจะส่งเงินให้ใช้เดือนละ 20,000 บาท” แม่อุ้มบุญชาวคีร์กีซสถาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Radio Free Europe Radio Liberty ถึงประเด็นการรับจ้างอุ้มบุญในจอร์เจีย 


คลินิกรับจ้างอุ้มบุญ มักจะโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อรับสมัคร “แแม่อุ้มบุญ” บางแห่งก็มีข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ มากมาย มาดึงดูดใจบรรดาหญิงสาวเหล่านี้ เช่น สนับสนุนด้านสุขภาพจิต, บริการดูแลเด็กเล็ก, การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว หรือแม้กระทั่ง iPhone รุ่นใหม่ คลินิกบางแห่งยังเสนอถึงขั้นการย้ายถื่นฐานไปพำนักประเทศอื่นระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ให้ด้วย 


“แม่อุ้มบุญหาเราเจอจากโซเชียลมีเดีย เพราะเราโฆษณาไว้บน TikTok และ Instagram” ลิวมิลา โวลชโควา ตัวแทนคลินิก Sur312 kg กล่าว 


ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวจีน ซึ่งการอุ้มบุญเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศ และคิวการทำ IVF ค่อนข้างนาน โดยเมื่อปี 2017 มีคู่รักชาวจีนมากกว่า 70,000 คู่ ตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อมองหาบริการเรื่องการเจริญพันธุ์โดยเฉพาะ 

---เรียกร้องไทย-นานาชาติ ปราบปรามค้ามนุษย์จริงจัง---


หลังจากตำรวจไทยและตำรวจสากลเข้าช่วยเหลือเหยื่อได้สำเร็จ แต่ยังมีหญิงสาวอีกนับร้อยที่ติดอยู่ในเงื้อมมือของขบวนการนี้และไม่กล้าออกมา เพราะเกรงกลัวการข่มขู่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมผลักดันให้รัฐบาลไทยและนานาชาติดำเนินการปราบปรามขบวนการนี้อย่างจริงจัง


ปวีณา หงสกุล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเพิ่มมาตรการป้องกันการหลอกลวงคนไทยให้ไปขายไข่หรืออุ้มบุญในต่างประเทศ พร้อมเสนอให้รัฐบาลจีนตรวจสอบเส้นทางการค้าของขบวนการนี้ เนื่องจากมีข้อมูลว่าปลายทางของไข่สืบพันธุ์ส่วนใหญ่คือ ประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นที่ตั้งของตลาดรับซื้อไข่ผิดกฎหมาย


ด้าน ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การขายไข่โดยไม่ได้รับอนุญาตและการนำไข่ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ถือเป็นการค้ามนุษย์ และสามารถดำเนินคดีทั้งในไทยและระดับสากลได้ พร้อมย้ำว่าขบวนการนี้อาจเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง


ดร.ธนกฤต เตือนว่า บุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ชักชวนไปจนถึงนายหน้า สามารถถูกดำเนินคดีฐานค้ามนุษย์และฟอกเงิน โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องรับโทษทั้งจำคุกและถูกยึดทรัพย์สิน


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.rferl.org/a/georgia-surrogacy-babies-foreigners-legislation/32464403.html

https://www.financeuncovered.org/stories/georgia-ban-low-cost-surrogacy-new-life

https://www.rferl.org/a/poverty-drives-women-in-central-asia-to-become-surrogate-mothers/32731033.html

https://www.tnnthailand.com/tnnexclusive/188382/

https://www.aljazeera.com/news/2018/12/13/poverty-and-demand-from-china-fuel-illegal-cambodia-surrogacy

https://eurasianet.org/georgia-to-ban-surrogacy-for-foreigners

https://www.cnbc.com/2023/03/07/womb-for-rent-more-women-are-working-in-commercial-surrogacy-industry.html