อแมนดา เหงียน (Amanda Nguyễn) ผู้หญิงเวียดนามคนแรกบนอวกาศ

เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา อแมนดา เหงียน (Amanda Nguyễn) กลายเป็นผู้หญิงเวียดนามคนแรกบนอวกาศ หลังจากแคปซูลอวกาศนิวเชพเพิร์ด (New Shepard) เดินทางกลับสู่พื้นโลกบริเวณรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา หลังจากเดินทางผ่านเส้นคาร์มัน ซึ่งเป็นจุดแบ่งระหว่างชั้นบรรยากาศของโลกกับอวกาศ  

ก่อนหน้านี้ในปี 2013 อแมนดา เหงียน เคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และเคยทำงานในภารกิจกระสวยอวกาศครั้งสุดท้ายของนาซา โดยเธอนั้นมีส่วนร่วมในการพัฒนาโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler) แต่เหตุการณ์ร้ายแรงเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธอ เมื่อเธอตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในงานเลี้ยงของสมาคมนักศึกษา

การต่อสู้กับระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิด ทำให้เธอเปลี่ยนเส้นทางจากนักวิทยาศาสตร์สู่นักเคลื่อนไหว เธอกลายเป็นผู้ผลักดันกฎหมาย Sexual Assault Survivors’ Bill of Rights ที่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับเหยื่อ เช่น การเข้ารับการตรวจทางการแพทย์ฟรี และการเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไว้นานขึ้น ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2019

และในวันที่ 14 เมษายน ปี 2025 อแมนดา เหงียน กลับมาสู่เส้นทางเที่ยวบินอวกาศอีกครั้งในภารกิจ NS-31 ของบริษัท บลู ออริจิน (Blue Origin) ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกในรอบ 60 ปี ที่ไม่มีลูกเรือชายบนยานอวกาศเลย โดยลูกเรือหญิงล้วน 6 คน ที่ร่วมเดินทางไปพร้อมกันประกอบด้วย เคธี่ เพอร์รี (Katy Perry) นักร้องชื่อดัง, เกย์ล คิง (Gayle King) ผู้ดำเนินรายการ “CBS Mornings”, ไอชา โบว์ (Aisha Bowe) อดีตวิศวกร NASA, เคเรียนน์ ฟลินน์ (Kerenna Flynn) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และลอเรน ซานเชซ (Lauren Sanchez) หัวหน้าภารกิจและภรรยาของเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัท Blue Origin

ของสมาคมนักศึกษา

อแมนดา เหงียน (Amanda Nguyễn) ผู้หญิงเวียดนามคนแรกบนอวกาศ

สรุปข่าว

อแมนดา เหงียน (Amanda Nguyễn) กลายเป็นผู้หญิงเชื้อสายเวียดนามคนแรกที่เดินทางสู่อวกาศกับภารกิจของบลู ออริจิน (Blue Origin) เมื่อ 14 เมษายน 2025 การเดินทางครั้งนี้คือการเติมเต็มความฝันในวัยเด็กที่เธอเคยหยุดไว้ เพื่อเปลี่ยนไปต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมส่งสารว่า “ไม่มีความฝันใดไกลเกินไป”

อแมนดา เหงียนนำสิ่งของสำคัญขึ้นไปในอวกาศ 2 ชิ้นในฐานะ Zero-G indicators หรือสิ่งบ่งชี้สภาวะไร้น้ำหนัก หนึ่งในนั้น คือ กระดาษโน้ตที่เขียนถึงตัวเองในอดีต เพื่อสัญญาว่าวันหนึ่งเธอจะกลับมาสานฝันของตนเอง อีกชิ้นคือสายรัดข้อมือจากโรงพยาบาลที่เธอได้รับหลังจากเข้ารับการตรวจร่างกายหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ

นอกจากนี้ เธอยังทำการทดลองบนอวกาศ เช่น การทดสอบวัสดุสำหรับแผ่นปิดแผลในสภาพไร้น้ำหนัก เพื่อพัฒนานวัตกรรมสุขภาพของผู้หญิงในอวกาศ และทดสอบวัสดุแบบสมาร์ตสำหรับชุดอวกาศรุ่นใหม่ รวมถึงแผ่นอัลตราซาวนด์แบบสวมใส่ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานจากนักวิจัยของ MIT ที่เธอเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการ

“ครั้งหนึ่ง ฉันเคยเลือกที่จะไม่แจ้งความทันที เพราะกลัวว่าจะมีผลต่ออนาคตการทำงานกับรัฐบาล” เหงียนเล่าในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NPR องค์กรสื่อสาธารณะไม่แสวงหากำไรของสหรัฐอเมริกาก่อนบินขึ้นสู่อวกาศ แต่ในเวลาต่อมาเธอเปลี่ยนใจ และเลือกที่จะต่อสู้เพื่อผู้รอดชีวิตคนอื่น ๆ ในสังคม

การเดินทางสู่อวกาศครั้งนี้ของอแมนดา เหงียน ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเดินทางของนักบินอวกาศ แต่ยังเป็นการส่งสารแห่งความหวังและการเยียวยาให้กับผู้ที่เคยเผชิญความเจ็บปวดทั่วโลก “ฉันอยากให้ผู้รอดชีวิตทุกคนรู้ว่า คุณสามารถฟื้นตัวได้จากความเจ็บปวด ไม่มีความฝันใดที่ไกลเกินเอื้อม แม้แต่การไปอวกาศ” เธอกล่าวหลังจากกลับถึงพื้นโลก