
ไดร์วูล์ฟ (Dire wolf) เป็นหมาป่าพันธุ์หนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในซีรีส์ดังอย่าง เกมออฟโธรนส์ (Game of Thrones) ซึ่งมีอยู่จริงในแถบอเมริกาเหนือก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 12,500 ปีก่อน
แต่บริษัท โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences) เคลมว่าสามารถคืนชีพขึ้นมาด้วยด้วยเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงจาก DNA ที่สกัดจากฟอสซิลได้สำเร็จขึ้นมาเป็นตัวผู้และตัวเมียรวม 3 ตัว

สรุปข่าว
การคืนชีพไดร์วูล์ฟด้วย DNA
ในปี 2021 บริษัท โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences) อ้างว่าได้สกัดรหัสพันธุกรรม (DNA) จากฟอสซิลของไดร์วูล์ฟที่มีอายุมากกว่า 13,000 ปี มาเป็นข้อมูลเพื่อตัดต่อยีนจำนวน 20 ชุด ให้กับหมาป่าสีเทา (Gray wolf) เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์ (Mutation) ให้ตรงกับคุณลักษณะสำคัญของไดร์วูล์ฟ
จากนั้นบริษัทก็สร้างตัวอ่อน (Embryos) ของไดร์วูล์ฟที่กลายพันธุ์มาจากหมาป่าสีเทา ให้เติบโตด้วยการฝากตัวอ่อนไว้กับสุนัขตัวเมีย ซึ่งมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรม และคลอดออกมาเป็นลูกไดร์วูล์ฟ โดยบริษัทได้ให้กำเนิดตัวอ่อนไดร์วูล์ฟรวม 3 ตัว
ไดร์วูล์ฟ 2 ตัวแรกเป็นตัวผู้ที่ชื่อว่าโรมูลัส (Romulus) กับรีมัส (Remus) ที่ต่างก็มีอายุ 6 เดือนในปัจจุบัน และตัวเมียอีก 1 ตัว ชื่อว่า คาลีซี (Khaleesi - ชื่อเดียวกันกับตัวละครหลักของ GOT, เดเนอริส ทาร์แกเรียน) ที่ปัจจุบันมีอายุได้ 2 เดือน ทั้งหมดได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ปิดลับในสหรัฐฯ กว่า 2,000 เอเคอร์ หรือมากกว่า 5,000 ไร่
ความท้าทายในการคืนชีพไดร์วูล์ฟ
แต่กว่าจะออกมาเป็นตัวอ่อนไดร์วูล์ฟก็มีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากฟอสซิลที่มีความสมบูรณ์ทาง DNA นั้นหาได้ยากมาก แต่โชคดีที่ฟอสซิลที่ฟันของไดร์วูลฟ์ที่มีอายุมากกว่า 13,000 ปี กับฟอสซิลส่วนกะโหลกที่มีอายุมากกว่า 72,000 ปี ยังสามารถสกัดข้อมูล DNA ออกมาได้
และเมื่อได้ข้อมูล DNA ทีมงานต้องคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ที่จะนำมาปรับแต่งยีนเพื่อกระตุ้นการกลายพันธุ์ให้เป็นไดร์วูล์ฟ ซึ่งพบว่าหมาป่าสีเทามีความตรงกันทางพันธุกรรมมากกว่า 99% จึงเลือกมาเป็นต้นแบบเพื่อปรับแต่งพันธุกรรม
นอกจากนี้ การปรับแต่งยีนให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเทคโนโลยีที่ยากมาก เนื่องจากปกติการควบคุมและปรับแต่งยีนจะทำได้แค่ไม่กี่ชุดเท่านั้น แต่ทีมวิจัยของ Colossal Biosciences ได้ทำพร้อมกันถึง 20 ยีน ซึ่งระบุว่าเป็นขีดจำกัดของเทคโนโลยีทางพันธุกรรมในปัจจุบันแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น 5 ใน 20 ยีนที่ปรับแต่ง ยังต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ผิดพลาดจนกระตุ้นให้เกิดอาการตาบอดและหูหนวกในหมาป่าสีเทาด้วย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการปรับแต่งยีนด้วยเช่นกัน
ในขณะที่การสร้างตัวอ่อนได้ใช้วิธีการนำอสุจิของหมาป่าสีเทาที่ปรับแต่งยีนฉีดใส่ไข่ของสุนัขตัวเมียมากกว่า 12 ใบ ซึ่งส่วนใหญ่ตายในระยะตัวอ่อน เนื่องจากเข้ากันไม่ได้ แต่ทางทีมอ้างว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของหมาป่าสีเทา
เดิมทีตัวอ่อนที่รอดและเจริญเติบโตกลายเป็นลูกหมาป่านั้นมี 4 ตัว แต่ตัวหนึ่งตายลงหลังเกิดมาได้ 10 วัน เนื่องจากมีภาวะทางเดินอาหารทะลุ (Ruptured intestine) แต่ที่เหลือก็เติบโตอย่างเป็นปกติ
มุมมองและอนาคตจากการคืนชีพไดร์วูล์ฟ
อย่างไรก็ตาม อดัม บอยโก (Adam Boyko) นักพันธุศาสตร์ (Geneticist) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ให้ความเห็นกับนิวยอร์กไทม์ส (New York Times) ว่า ลูกหมาป่าทั้ง 3 ตัว ไม่ได้เป็นไดร์วูล์ฟที่แท้จริง
นอกจากนี้ อดัม บอยโกยังตั้งคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าลักษณะเด่นของไดร์วูล์ฟกำหนดโดยยีน 20 ตัว หรือจริง ๆ อาจจะเป็นยีน 2,000 ตัว ก็ได้เช่นกัน แต่ก็ยินดีอย่างมากที่ได้เห็นการดัดแปลงพันธุกรรมจากข้อมูลยีนสัตว์ที่สูญพันธ์ุไปแล้ว
บริษัท โคลอสซัล ไบโอไซแอนซ์ (Colossal Biosciences) เชื่อว่าโครงการคืนชีพไดร์วูล์ฟ จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจการปรับแต่งยีนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อย่างแมมมอธ นกโดโด รวมไปถึงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทั่วโลกและในสหรัฐอเมริกาที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่นหมาป่าแดง (Red wolf) และไคโยตี (Coyote) ด้วยการปรับแต่งยีนในอนาคต
ที่มาข้อมูล : New York Times, Reuters
ที่มารูปภาพ : Reuters

Thanaboon Soasawang