
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน (Washington State University) ประสบความสำเร็จในการนำใบพัดกังหันลมที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วมารีไซเคิล (Recycle) เป็นพลาสติกคอมโพสิต (Composite plastic) หรือพลาสติกแบบผสมระหว่างสาร 2 ชนิด ที่มีความแข็งแรงทนทานซึ่งเรียกว่า อาร์จีเอฟอาร์พี (rGFRP) ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้วิธีนำใบพัดไปทิ้งและกลายเป็นปัญหาขยะเนื่องจากย่อยสลายได้ยาก

สรุปข่าว
กระบวนการรีไซเคิลใบพัดกังหันลม
พลาสติกเสริมใยแก้วรีไซเคิล หรือ rGFRP (Recycled Glass Fiber-Reinforced Plastic) เป็นพลาสติกรีไซเคิลที่ได้จากพลาสติก GFRP ซึ่งเป็นวัสดุหลักของใบพัดกังหันลม โดยผ่านกระบวนการทางเคมีที่ทำให้ใบพัดซึ่งถูกหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ สามารถหลอมละลายและกลายสภาพเป็นวัสดุตั้งต้นใหม่อีกครั้ง
ความสำคัญในการสร้าง rGERP อยู่ที่กระบวนการรีไซเคิล GFRP ซึ่งเป็นการย่อยสลายพันธะทางเคมีเพื่อให้สามารถนำไปแปลงสภาพได้ โดยเริ่มจากการหั่นใบพัดเป็นท่อนและตามด้วยแปลงสภาพให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปแช่ในสารซิงก์อะซีเตต (Zinc acetate) ซึ่งเป็นสารประกอบจำพวกเกลือแบบหนึ่งพร้อมใส่แรงดันเพื่อให้เกิดความร้อนสูง (Superheat) เป็นว่า 2 ชั่วโมง
ผลที่ได้จากการรีไซเคิลใบพัดกังหันลม
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแช่ GERP จะทำให้สามารถแยกใยแก้วและเรซิน (Resin) ออกมาจากใบพัดกังหันลม เหลือเพียงไนลอนที่เป็นพลาสติกส่วนหลักของ GERP ซึ่งนำไปขึ้นรูปใหม่ได้ โดยทีมวิจัยอ้างว่าพลาสติกที่หลอมขึ้นมาจากการรีไซเคิล GERP มีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าเดิม 3 เท่า และมีความทนทานต่อการบิดรูป (Stiffness) กว่าเดิม 8 เท่า
นอกจากนี้ สารตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างซิงก์อะซีเตต (Zinc acetate) ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งหลังจากผ่านการกรองทำความสะอาดสิ่งเจือปนระหว่างรีไซเคิล รวมถึงกระบวนการนี้ยังสามารถไปใช้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ อย่างเช่น ถาดพลาสติกสำหรับใส่อาหาร เครื่องเขียน หรือแม้แต่ของเล่นได้ในอนาคต
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารวิชาการรีซอร์สเซส คอนเซเวชัน แอนด์ รีไซคลิง (Resources, Conservation and Recycling) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ทีผ่านมา หากเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้จริงในอุตสาหกรรม อาจช่วยลดขยะใบพัดที่ทับถมในหลุมฝังกลบทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ที่มาข้อมูล : New Atlas, Washington State University
ที่มารูปภาพ : Unsplash