
โทมัส แชร์มัก (Tomáš Šermák) วัย 18 ปี จากสาธารณรัฐเช็ก และอันนา โพดมานิกกา (Anna Podmanická) วัย 19 ปี จากสโลวาเกีย กลายเป็นผู้ชนะรางวัล The Earth Prize ระดับทวีปยุโรป ประจำปี 2025 จากผลงาน “PURA” อุปกรณ์ต้นแบบผลิตน้ำสะอาดที่ผสานเทคโนโลยีพลาสมาเย็นกับการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในแหล่งน้ำและเพิ่มความปลอดภัยของน้ำดื่ม
สำหรับการทำงานของเทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold Plasma Technology) คือ การใช้แรงดันไฟฟ้าสูงทำให้ก๊าซ เช่น อากาศ, ฮีเลียม, อาร์กอน แตกตัวเป็นไอออน อิเล็กตรอน และโมเลกุลที่มีพลังงานสูง โดยไม่ทำให้ร้อนทั้งหมด พลังงานเฉพาะจุดนี้ทำให้เกิด “พลาสมาเย็น” ตัวอย่างการใช้งานอื่น ๆ เช่น ฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียโดยไม่ใช้ความร้อน หรือการทำความสะอาดพื้นผิวก่อนพ่นสีหรือเคลือบ
นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าประกวดจากเช็กเกียและสโลวาเกียคว้ารางวัลระดับนี้ โดยโครงการของพวกเขาถูกคัดเลือกจากข้อเสนอนับพันรายการทั่วทั้งยุโรป โทมัสและอันนาได้รับเงินรางวัล 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,300 ยูโร หรือ 420,700 บาท พร้อมโอกาสขยายโครงการในระดับต้นแบบที่ใหญ่ขึ้น และการสนับสนุนเชิงเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญในโครงการ The Earth Prize

สรุปข่าว
นวัตกรรมผลิตน้ำสะอาด PURA ใช้เทคโนโลยีพลาสม่าเย็นเพื่อทำลายแบคทีเรียและสารมลพิษที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงที่ช่วยสลายสารเคมีอันตรายโดยอาศัยพลังงานแสง เช่น แสงอาทิตย์ ทั้งคู่คือนักประดิษฐ์กลุ่มแรกที่ผนวกสองเทคโนโลยีนี้เข้าด้วยกันในอุปกรณ์เดียว
แม้จะยังเป็นเพียงต้นแบบขนาดเล็กที่ใช้กับครัวเรือน แต่เป้าหมายระยะยาวของพวกเขาคือการพัฒนาอุปกรณ์ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อใช้งานจริงในโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถรับมือกับมลพิษประเภทสารเคมีอันตรายตลอดกาล (PFAS) หรือสารอัลคิลเพอร์ฟลูออริเนตและโพลีฟลูออไรด์ สารเคมีสังเคราะห์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด และยาปฏิชีวนะตกค้างที่โรงบำบัดแบบดั้งเดิมไม่สามารถกำจัดได้
รายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป แหล่งน้ำใต้ดินกว่า 60% ของยุโรปอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม และราว 25% ปนเปื้อนสารเคมี ทั้งที่น้ำใต้ดินคือแหล่งน้ำดื่มหลักของชาวยุโรปถึงสองในสาม
นอกจากคว้ารางวัล The Earth Prize ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทั้งสองจะได้ลุ้นผลการประกาศรางวัล The Earth Prize ระดับโลก ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนร่วมลงคะแนนเสียงในวันที่ 13 เมษายน และประกาศผลในวันคุ้มครองโลก 22 เมษายนนี้ “ผมยังคงมีความหวังและพยายามอธิบายไอเดียนี้ให้ผู้คนเข้าใจให้ได้มากที่สุด แม้มันจะไม่ใช่แนวคิดที่เข้าใจง่าย แต่ผมเชื่อว่าเราทำได้” โทมัส แชร์มั กล่าวเพิ่มเติม
ที่มารูปภาพ : The Earth Foundation