“Kawasaki” เปิดตัว “Corleo” ยานพาหนะขับเคลื่อน 4 ขา วิ่งตะลุยป่าดั่งราชสีห์

คาวาซากิ (Kawasaki) บริษัทด้านยานยนต์และเทคโนโลยีชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เผยผลงานที่เรียกเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์ กับการเปิดตัวแนวคิดยานพาหนะรูปแบบใหม่ ภายใต้ชื่อว่า คอร์เลโอ (Corleo) เป็นหุ่นยนต์ขับเคลื่อน 4 ขา ที่ผสมผสานระหว่าง “มอเตอร์ไซค์” และ “สิงโต” ไว้อย่างลงตัว

“Kawasaki” เปิดตัว “Corleo” ยานพาหนะขับเคลื่อน 4 ขา วิ่งตะลุยป่าดั่งราชสีห์

สรุปข่าว

คาวาซากิเปิดตัวแนวคิดยานพาหนะสุดล้ำ "คอร์เลโอ" หุ่นยนต์ 4 ขาที่ผสานมอเตอร์ไซค์และสิงโตเข้าด้วยกัน ออกแบบมาสำหรับการเดินทางบนพื้นที่ขรุขระด้วยการควบคุมผ่าน AI และภาษากายของผู้ขับขี่ โดยใช้พลังงานไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ว่าจะสามารถพัฒนาให้ใช้งานจริงได้ภายในปี 2050

แนวคิดการออกแบบ คอร์เลโอ (Corleo) คือยานพาหนะรูปแบบใหม่ที่เราสามารถนั่งไปบนหลังของมันได้ คล้ายกับการนั่งบนหลังม้า และการออกแบบให้หุ่นยนต์วิ่งด้วย 4 ขา ทำให้เหมาะสำหรับใช้เดินทางผ่านพื้นผิวภูมิประเทศที่มีความขรุขระ หรือมีลักษณะซับซ้อน ที่ไม่เหมาะกับยานพาหนะแบบมีล้อ


สำหรับรูปร่างภายนอก คล้ายกับหุ่นยนต์สิงโตที่ไม่มีส่วนหัว โดยจะเปลี่ยนเป็นจอมอนิเตอร์ขนาดเล็กสำหรับผู้ขับขี่ โดยใกล้กับจอจะมีแฮนด์หรือที่จับส่วนที่หลังของหุ่นยนต์ จะมีเบาะนั่งปรับขนาดได้ หน้าตาคล้ายกับเบาะนั่งของมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ส่วนบริเวณขาออกแบบข้อต่อให้ทนแรงกระแทกได้ดี


ตัวหุ่นยนต์ยังสามารถรองรับคนขี่ได้ 2 ที่นั่ง ภายในติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สำหรับควบคุมการทำงาน ส่วนพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน จะเป็นพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจน ทำให้สิ่งที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ขนาด 150 ซีซี จะมีเพียงแค่น้ำสะอาดเท่านั้น 


ในแง่สมถรรนะการขับขี่ เนื่องจากยังเป็นเพียงแค่แนวคิดในการสร้าง จึงยังไม่ได้มีเผยออกมามากนัก แต่จากวิดีโอที่ใช้ในการโฆษณา จะเห็นว่ามีการยกตัวอย่างการวิ่งหรือเดิน เช่น การขึ้นลงจากเนินเขาที่มีพื้นผิวไม่เท่ากัน การวิ่งควบที่ดูคล้ายกับสิงโต และการกระโดดไกลเพื่อพุ่งทะยานข้ามพื้นที่

เรียกได้ว่าแนวคิดของ คอร์เลโอ (Corleo) คือหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นยานพาหนะแบบใหม่ เพื่อการเดินทางแบบสมบุกสมบัน โดยจะใช้ AI ช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวอย่างรอบคอบและปลอดภัยที่สุด และตอบสนองต่อภาษากายของผู้ขับขี่เป็นหลัก โดยจะยึดจากการเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของผู้ขับขี่ เพื่อควบคุมให้หุ่นยนต์ปรับการก้าวเดินได้แบบเรียลไทม์


อย่างไรก็ตามย้ำว่านี่เป็นเพียงแค่แนวคิดของยานพาหนะที่ยังไม่ได้มีการผลิตขึ้นมาจริง ๆ  ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคาวาซากิ จะสามารถพัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ออกมาให้ใช้งานจริงได้หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทก็คาดว่าจะออกมาให้ยลโฉมกันได้อย่างเร็วที่สุด ภายในช่วงปี 2050 เลยครับ

avatar

อารียา ใจสุข

แท็กบทความ