
หลังจากสหรัฐฯ สร้างแผ่นดินไหวทางการค้า ด้วยการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ส่งผลให้สถานการณ์ทั่วโลกเกิดความผันผวนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดทุน หลังจากตลาดเชื่อว่า สินค้าหมวดเทคโนโลยีในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

สรุปข่าว
บริษัทเทคโนโลยีกระทบหนักสุด
บริษัท แอปเปิล (Apple, AAPL.O) ร่วงลงไปกว่า 7% ในตลาดหุ้น Nasdaq หลังจากที่ไต้หวันและจีนต่างโดนมาตรการภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึงร้อยละ 32 และ 54 ซึ่งบริษัท TSMC ในไต้หวัน เป็นฐานการผลิตชิปประมวลผลอุปกรณ์ทั้งหมดของบริษัท แอปเปิล (Apple) เช่น iPhone, Mac, และ iPad ส่วนจีนเป็นฐานการผลิตประกอบ iPhone ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ประเทศที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในห่วงโซ่การผลิต (Supply chain) ในเอเชียตะวันออกต่างโดนมาตรการภาษีนำเข้าถ้วนหน้า ได้แก่ ญี่ปุ่นที่ร้อยละ 24 ไทย ร้อยละ 36 เวียดนามร้อยละ 46 และกัมพูชาที่ร้อยละ 49 ส่งผลให้ตลาดหุ้น S&P500 ร่วงลงไป 2.7% ตลาดหุ้น Nikkei ของญี่ปุ่นร่วงลงไป 2.8% ส่วนตลาด FTSE futures ตกลง 1.6% และตลาดหุ้นในสหภาพยุโรปร่วงลงไป 2%
ทั้งนี้ หุ้นเทคโนโลยีในกลุ่ม 7 นางฟ้า (Magnificent Seven technology leaders) ที่นอกเหนือจาก Apple แล้วก็ยังมี อัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google), แอมะซอน (Amazon), เมตา (Meta), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), เอ็นวิเดีย (Nvidia), และเทสลา (Tesla) ต่างร่วงกันถ้วนหน้าในตลาด Nasdaq ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางการตลาดที่หายไปสูงถึง 760,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 26 ล้านล้านบาท ในไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
มาตรการภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง
ด้านนักวิเคราะห์การลงทุนต่างออกมาให้ความเห็นที่สะท้อนความกังวลถ้วนหน้า เช่น ฌานเน็ตต์ เกอรัตตี้ (Jeanette Gerratty) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Cheif economist) ของโรเบิร์ตสัน สตีเฟนส์ (Robertson Stephens) บริษัทบริหารความมั่งคั่ง (Wealth advisory) ชื่อดังในสหรัฐฯ นั้นบอกกับรอยเตอร์ส (Reuters) ว่ามาตรการภาษีนำเข้าถูกใช้อย่างครอบคลุมและอย่างรุนแรงมากกว่าที่ทางบริษัทคาดไว้
จือเว่ย จาง (Zhiwei Zhang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการหลักทรัพย์พินพอยท์ (Pinpoint Asset Management) ในฮ่องกง กล่าวกับ Reuters ว่า “มาตรการภาษีนำเข้าที่ประกาศวันนี้สร้างสัญญาณความเสี่ยงต่อการค้าโลกอย่างเห็นได้ชัด และเหล่าซัพพลายเชนในประเทศเอเชียตะวันออกต่างได้รับแรงกดดันมากเป็นพิเศษด้วย”
นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า หากประเทศในรายชื่อไม่สามารถเจรจาหาทางออกได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ผลกระทบทั้งหมดก็จะย้อนกลับไปยังสหรัฐฯ ในการก่อปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างมีนัยยะสำคัญได้เช่นกัน

Thanaboon Soasawang