
โดยหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในประเทศเมียนมาและประเทศไทย มีรายงานภาพเหตุการณ์สะเทือนใจจากพื้นที่ประสบภัย ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก

สรุปข่าว
อูร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรบริหารในสหภาพยุโรป (European Union - EU) ได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยผ่านทางโซเชียลมีเดียเอ็กซ์ (X)
โดยระบุว่า "ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหยื่อและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมาและไทย ดาวเทียมโคเปอร์นิคัสของยุโรปได้เริ่มให้ข้อมูลสนับสนุนแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัยในพื้นที่ทันที และเราพร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในทุกรูปแบบ เราขอยืนหยัดเคียงข้างคุณด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน"
โครงการโคเปอร์นิคัส (Copernicus)
สำหรับโครงการโครงการโคเปอร์นิคัส (Copernicus) เป็นโครงการสังเกตการณ์โลกของสหภาพยุโรปที่ร่วมดำเนินการกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยอาศัยกลุ่มดาวเทียม Sentinel ในการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติจากอวกาศ โดยในกรณีแผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ดาวเทียม Copernicus สามารถให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ
1. ตรวจจับและประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหว Sentinel-1 ใช้เรดาร์แบบ Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของพื้นดินแม้ในสภาพอากาศที่มีเมฆปกคลุม ข้อมูลจาก Sentinel-1 สามารถช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก และตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างแม่นยำ
2. การสร้างแผนที่แบบเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการกู้ภัย โดยใช้ระบบ Copernicus Emergency Management Service (CEMS) สามารถจัดทำแผนที่ภัยพิบัติแบบเร่งด่วน (Rapid Mapping) ซึ่งแสดงตำแหน่งสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย พื้นที่อพยพ และเส้นทางการเข้าถึง แผนที่ดังกล่าวช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมียนมาและไทยสามารถวางแผนการเข้าช่วยเหลือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มาข้อมูล : (European Union - EU
ที่มารูปภาพ : European Union - EU

พีรพรรธน์ เชื้อจีน