ทำความรู้จัก “แผ่นดินไหวคลื่นยาว” สาเหตุที่ตึกสูงในไทยสั่นไหวรุนแรงและยาวนาน

Weathernews บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์อากาศและเตือนภัยชื่อดังของญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมา บริเวณรอยเลื่อนสะกาย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ขนาดความรุนแรง 8.2 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงประเทศจีน รวมถึงภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเกิดอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอีกกว่า 40 ครั้ง เนื่องจากความลึกอยู่ใกล้ผิวดิน


ทำความรู้จัก “แผ่นดินไหวคลื่นยาว” สาเหตุที่ตึกสูงในไทยสั่นไหวรุนแรงและยาวนาน

สรุปข่าว

แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ในเมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงไทย ส่งผลให้กรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย อาคารสูงบางแห่งพังถล่ม นักวิจัยชี้ว่าเป็นผลจาก “แผ่นดินไหวคลื่นยาว” (Long-period Ground Motion) ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่เดินทางไกลและทำให้อาคารสูงสั่นสะเทือนรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์ Resonance (การสั่นพ้อง) ในขณะที่ “คลื่นแผ่นดินไหวปกติ” มีความถี่สูงกว่า ส่งผลต่ออาคารเตี้ยมากกว่า

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร แม้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไกลถึง 1,100 กิโลเมตร ส่งผลให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในพื้นที่เขตจตุจักรที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ความสูง 30 ชั้น พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก 


โดยรายจาก Weathernews พบว่าการสั่นสะเทือนของตึกและอาคารสูงในกรุงเทพมหานครคต่อเนื่องและรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของ “แผ่นดินไหวคลื่นยาว” หรือ Long-period Ground Motion เป็นคลื่นแผ่นดินไหวระยะยาว มีความถี่ต่ำ สามารถเดินทางได้ไกล ส่งผลให้อาคารสูงที่มีความยืดหยุ่นเกิดการสั่นพ้อง (Resonance) กับคลื่นแผ่นดินไหวระยะยาว


ความแตกต่างระหว่าง "แผ่นดินไหวปกติ" กับ "แผ่นดินไหวคลื่นยาว"

ภาพ: Weathernews

โดยปกติแล้ว “แผ่นดินไหวคลื่นยาว” เป็นการสั่นสะเทือนอย่างช้าๆ ที่มีระยะเวลา 2 วินาทีขึ้นไป สามารถเดินทางได้ไกล มักส่งผลกับอาคารสูงมากกว่าอาคารเตี้ย เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงสร้างตึกที่ไม่แข็งแรง หรือไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนอาจเกิดการเสียหายหรือพังถล่มลงมาได้ ในขณะเดียวกันแรงสั่นสะเทือนช่วงคลื่นที่ยาว และมีความถี่ต่ำ จึงไม่กระทบกับอาคารที่มีขนาดเล็ก 

 

ส่วน “คลื่นแผ่นดินไหวปกติ” มีแรงสั่นสะเทือนถี่และรวดเร็ว เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 1 วินาที หรือน้อยกว่านั้น ตึกสูงที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นจึงได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากโครงสร้างสามารถซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี แต่คลื่นแผ่นดินไหวระยะสั้นจะส่งผลกระทบกับอาคารเตี้ยมากกว่าเพราะมีโครงสร้างแข็งแรงแต่ไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนแบบถี่ได้

ที่มาข้อมูล : คุณบูม JapanSalaryman, TNN EARTH

ที่มารูปภาพ : Envato, Weathernews

avatar

วาสนา ชูติสินธุ