ข้อมูล NASA เผยฝุ่น PM 2.5 ประเทศไทยมาจากเผาป่า-พืช ขับรถ ขนส่ง และกิจกรรมของมนุษย์ หลังครบ 1 ปี ส่งเครื่องบินวิจัยที่อู่ตะเภา

จิสด้า (GISTDA) หน่วยงานด้านภูมิสารสนเทศของไทย เปิดงานแถลงผลลัพธ์เบื้องต้น (Preliminary result) จากโครงการ ASIA-AQ ที่ส่งเครื่องบินวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศหรือนาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา จำนวน 2 ลำ บินเก็บข้อมูลฝุ่นในประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคมปี 2024 ผ่านมา โดยพบว่าการเผาชีวมวล (Biomass Burning) เป็นปัจจัยหลักของมลพิษในภาคเหนือ ขณะที่มลพิษในกรุงเทพฯ มาจากการจราจร อุตสาหกรรม และการเผาชีวมวลร่วมกัน

สรุปข่าว
สรุปโครงการเครื่องบินเก็บข้อมูลฝุ่นของ ASIA-AQ จาก NASA คืออะไร
โครงการ ASIA-AQ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เป็นการนำเครื่องบิน DC-8 ขึ้นบินเพื่อเก็บค่าฝุ่น โดยขึ้นจากสนามบินอู่ตะเภามุ่งหน้าทางเหนือไล่ไป ตั้งแต่กรุงเทพถึงเชียงใหม่ และบินกลับมายังสนามบินอู่ตะเภา โดยเส้นทางการบินจะผ่านสนามบินดอนเมือง สนามบินสุโขทัย และสนามบินเชียงใหม่ ก่อนจะวนกลับมาผ่านสนามบินแพร่ สนามบินพิษณุโลก และมุ่งหน้าสู่สนามบินอู่ตะเภา และทำการบินลักษณะนี้ 2 รอบต่อวัน เป็นจำนวน 4 วัน ซึ่งจะบินแบบขึ้น-ลงที่ระดับความสูงประมาณ 3,000 เมตรและบินต่ำหรือเข้าใกล้ที่สนามบินระดับความสูงประมาณ 50 เมตร เพื่อให้เห็นระดับชั้นบรรยากาศในความสูงที่แตกต่างกัน ส่วนเครื่องบิน G-III จะขึ้นจากสนามบินอู่ตะเภา เน้นบินเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้าบริเวณเหนือท้องฟ้ากรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นนทบุรี ปทุมธานี เป็นต้น
ทั้งนี้ ภายในเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ของ NASA จะประกอบไปด้วยเครื่องมือวิจัยกว่า 40 ชนิด ซึ่งสามารถตรวจวัดและคำนวณปริมาณฝุ่นและสารละอองลอย (Aerosol) ประเภทต่าง ๆ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการบินเก็บข้อมูลจะนำไปทำแผนภูมิ (Profile) ของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย พร้อมทั้งจับเทียบกับข้อมูลที่ดาวเทียมสารสนเทศซึ่ง GISTDA นำมาใช้ตรวจวัดฝุ่นเหนือโลกขึ้นไปเพื่อเสริมความแม่นยำในการตรวจวัดมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลทั้งระนาบบนอากาศ และแผนภูมิแนวดิ่ง (Vertical Profile) ของปริมาณและประเภทฝุ่นจากเครื่องบินวิจัยของ NASA มีความละเอียดสูงเมื่อเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม
ผลลัพธ์จากการบินเก็บฝุ่นโดยเครื่องบิน NASA
ผลจากการบินเก็บค่าฝุ่น ทำให้เห็นลักษณะพิเศษของฝุ่นว่า กลุ่มของฝุ่นจะอยู่ด้านล่างของชั้นบรรยากาศ และเมื่ออยู่ในระดับที่สูงขึ้นไป ปริมาณฝุ่นจะน้อยลง นอกจากนี้ ความสูงยังสามารถบอกพฤติกรรมการเกิดฝุ่นได้อีกด้วย เช่น หากฝุ่นอยู่ในความสูงมากกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ฝุ่นนี้เกิดจากที่อื่นและเคลื่อนย้ายมาในบริเวณที่พบค่าฝุ่นซึ่งเรียกว่าฝุ่นแบบทุติยภูมิ เป็นต้น โดยเบื้องต้นในช่วงโครงการสำรวจ ASIA-AQ พบว่า PM2.5 ส่วนใหญ่เป็นละอองลอยที่ผ่านปฏิกิริยาเคมีในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และควันเก่าจากการเผาชีวมวลเป็นหลัก
โดยการเผาชีวมวล (Biomass Burning) เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษจากฝุ่นละอองในภาคเหนือของประเทศไทย จากหลักฐานหลายประการ รวมถึงปริมาณละอองลอยอินทรีย์ (Organic Aerosol) ปฐมภูมิและทุติยภูมิที่วัดได้จากอุปกรณ์บนเครื่องบินของ NASA ตลอดจนสารประกอบในบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้ รวมถึงการข้อมูลการตรวจวัดภาคพื้นดินที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจากสหพันธ์สาธารณรัฐเกาหลีในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงโครงการสำรวจ ASIA-AQ อีกด้วย
ขณะที่มลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ร่วมกับการเผาชีวมวล ซึ่งความแตกต่างกันของแหล่งที่มาเหล่านี้ เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นในการเข้าใจถึงปัจจัยและองค์ประกอบต่าง ๆ ของการเกิดมลพิษในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา การป้องกัน และบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจในแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ ต้องมีความระมัดระวังในการแยกแยะละอองลอยจากแหล่งกำเนิดโดยตรง และละอองลอยทุติยภูมิหรือละอองลอยที่พัดพามาจากที่อื่น
ข้อสังเกตฝุ่น PM 2.5 สูงในไทยมีวงรอบประจำปีชัดเจน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากสถิติหลายปีที่ผ่านมา มลพิษในประเทศไทยโดยเฉพาะ PM2.5 จะมีฤดูกาลที่ชัดเจนคือกรุงเทพฯ จะเริ่มมีฝุ่นเยอะในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมกราคม ในขณะที่ภาคเหนือจะเริ่มมีปริมาณฝุ่นเยอะมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี อีกทั้งเมื่อดูจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น Organic Aerosol, Levoglucosan, Acetonitrile พบว่าเชียงใหม่มีปริมาณสูงกว่ากรุงเทพเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่บ่งบอกถึงการเผาชีวมวลในพื้นที่ ข้อมูลนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครื่องมือภาคพื้นที่ติดตั้งที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสารก่อมลพิษที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมกัน โดยเฉพาะปัจจัยด้านการจราจรและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีโอโซนระดับพื้นดินที่เป็นมลพิษที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจด้วย โอโซนระดับพื้นดินดังกล่าวมักเกิดจากไอเสียรถยนต์ และการเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อเจอกับแสงแดดในช่วงเวลากลางวันจะเกิดโอโซนระดับพื้นดินที่มีความเข้มข้นสูง และสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีโอโซนระดับพื้นดินสูงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในอาเซียน
ประเทศไทยกับคณะทำงานเพื่อการวิจัยเรื่องฝุ่น PM 2.5
ผลวิเคราะห์เบื้องต้นได้มีการนำเสนอในงาน ASIA-AQ Science Team Meeting เมื่อ 20-24 มกราคม 2568 ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานประชุมที่มีทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึง GISTDA เข้าร่วมและพบกับทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NASA นำโดย James H. Crawford และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ASIA-AQ เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้น ก่อนนำเสนออีกครั้งในไทย
GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. และคณะทำงานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภายใต้โครงการ ASIA-AQ อาทิ กรมควบคุมมลพิษ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐ และอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น อยู่ระหว่างเดินหน้าศึกษาวิจัยข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกับ NASA อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการบินเก็บค่าฝุ่น
ทั้งนี้ GISTDA มีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เฉพาะทางที่สนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เนื่องจากข้อมูล ปัจจัย และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลใหม่และสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบรรเทาและแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศไทยอย่างจริงจัง และในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ คณะทำงานมีแผนจะเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาล หน่วยงานระดับนโยบายของประเทศ รวมถึงสาธารณะในลำดับถัดไป

Thanaboon Soasawang