
องค์การนาซา (NASA) เตรียมเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดรุ่นใหม่ล่าสุดสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) หรือ Spectro-Photometer for the History of the Universe, Epoch of Reionization, and Ices Explorer ในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะเดินทางสู่อวกาศด้วยจรวด ฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย
ภารกิจในครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 16,354 ล้านบาท โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแผนที่ท้องฟ้าแบบ 3 มิติ ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรด ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
คาดว่าตลอดระยะเวลา 2 ปี ของการปฏิบัติภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะเก็บข้อมูลของกาแล็กซีกว่า 450 ล้านแห่ง และดาวกว่า 100 ล้านดวง ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งจะกลายเป็นแคตตาล็อกที่ครอบคลุมที่สุดของวัตถุในจักรวาล โดยสามารถตรวจจับกาแล็กซีขนาดเล็กหรือห่างไกลเกินกว่าที่กล้องโทรทรรศน์อื่นจะมองเห็นได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx)
นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะช่วยตอบคำถามสำคัญ เช่น โครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร, กระบวนการก่อตัวและวิวัฒนาการของกาแล็กซีเป็นอย่างไร, น้ำและส่วนประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตในกาแล็กซีของเรามาจากไหน?
เมื่อเข้าสู่วงโคจรรอบโลกกล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะเคลื่อนที่อย่างแม่นยำเพื่อตรวจสอบพื้นที่ท้องฟ้าเฉพาะจุดเป็นเวลาหลายวัน ทำให้สามารถทำแผนที่ท้องฟ้าทั้งหมดได้ 2 ครั้งต่อปี
โครงสร้างของตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศมีน้ำหนักเพียง 500 กิโลกรัม เทียบได้ประมาณน้ำหนักของเปียโนขนาดเล็ก และใช้พลังงานเพียง 270–300 วัตต์ ซึ่งน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ในตู้เย็น โดยพลังงานทั้งหมดมาจากแผงโซลาร์เซลล์แบบหนาที่คล้ายกับแผงที่ติดตั้งบนหลังคาบ้าน

สรุปข่าว
เป้าหมายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx)
หนึ่งในเป้าหมายหลักของภารกิจคือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ การพองตัวของจักรวาล (Cosmic Inflation) ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากบิ๊กแบงเพียงเสี้ยววินาทีที่จักรวาลขยายตัวอย่างรวดเร็ว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะตรวจจับรูปแบบการกระจายตัวของกาแล็กซีหลายร้อยล้านแห่ง เพื่อตรวจหาการกระจายตัวของ "ระลอกคลื่น" ขนาดเล็กที่ฝังอยู่ในโครงสร้างขนาดใหญ่ของจักรวาลและยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) ยังติดตั้งเครื่องวัดสเปกตรัมแบบปริซึมที่สามารถแยกแสงออกเป็น 102 สี ทำให้สามารถระบุองค์ประกอบของโมเลกุลน้ำแข็งในเมฆระหว่างดวงดาวได้
โดยนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการกระจายตัวของธาตุสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ไฮโดรเจน, ออกซิเจน, ไนโตรเจน, คาร์บอน และกำมะถัน รวมถึงวิธีที่ธาตุเหล่านี้ถูกส่งไปยังบริเวณที่ดาวเคราะห์ก่อตัว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะไม่เดินทางเพียงลำพัง แต่จะปล่อยตัวพร้อมกับภารกิจพันช์ (PUNCH) หรือ Polarimeter to Unify the Corona and Heliosphere) ขององค์การนาซา (NASA) ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียม 4 ดวง สำหรับศึกษาชั้นบรรยากาศภายนอกของดวงอาทิตย์หรือ โคโรนา และติดตามการก่อตัวของลมสุริยะที่กระจายตัวไปทั่วเฮลิโอสเฟียร์ ซึ่งเป็นฟองอากาศแม่เหล็กขนาดใหญ่รอบระบบสุริยะ
องค์การนาซา (NASA) ระบุว่าภารกิจเหล่านี้จะให้มุมมองแบบ 3 มิติ ของเฮลิโอสเฟียร์ชั้นในทั้งหมด พร้อมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากโคโรนาดวงอาทิตย์ไปเป็นลมสุริยะ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน กล้องโทรทรรศน์อวกาศสเฟียร์เอ็กซ์ (SPHEREx) จะไม่เพียงช่วยเผยให้เห็นความลับของจักรวาล แต่ยังอาจนำไปสู่การค้นพบครั้งใหม่ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

พีรพรรธน์เชื้อจีน
()