
เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องบินลำนี้?
จากเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสายการบินเดลต้าแอร์ไลน์ (Delta Air Lines) ประสบอุบัติเหตุพลิกหงายท้องขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาติโทรอนโต เพียร์สัน (Toronto Pearson International Airport) ในประเทศแคนาดา จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 21 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ล่าสุดมีผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าการออกแบบตัวเครื่องบินสมัยใหม่ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผู้โดยสารรอดชีวิต
ผู้เชี่ยวชาญชี้การออกแบบเครื่องบินมีส่วน
ไมเคิล แมคคอร์มิก (Michael McCormick) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากมหาวิทยาลัยการบินเอ็มบรี-ริดเดิ้ล (Embry-Riddle Aeronautical University) ในสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี (AP) ว่า การที่ผู้โดยสารทุกคน สามารถรอดชีวิตได้อย่างน่าทึ่ง หลังจากเครื่องบินรุ่น CRJ-900 ของเดลต้าแอร์ไลน์ พลิกคว่ำขณะลงจอด เป็นการตอกย้ำว่าการออกแบบวิศวกรรมของเครื่องบินสมัยใหม่ เป็นไปตามหลักความปลอดภัย

สรุปข่าว
โดยเขาระบุว่า ปีกของเครื่องบิน ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ให้หักและแยกออกจากลำตัวเครื่องบินได้ง่ายเมื่อเครื่องบินเกิดการกระแทก ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญต่อการรอดชีวิตของผู้โดยสาร เนื่องจากถังน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่อยู่บริเวณปีก หากปีกไม่หักออกเมื่อเกิดการกระแทก ก็จะทำให้ถังน้ำมันแตก จนเกิดการรั่วไหล และก่อให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรง
ดังนั้นการที่ปีกเครื่องบินสามารถหักออกได้ง่ายเมื่อเกิดแรงกระแทก จึงช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงยังช่วยให้เครื่องบินจอดราบกับพื้นได้ ทำให้การอพยพทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนบริเวณแพนหางแนวตั้งของเครื่องบิน (Vertical stabilizer) ก็ได้รับการออกแบบให้แยกออกออกได้เมื่อเกิดการกระแทกเช่นกัน ซึ่งช่วยให้ห้องโดยสารเมื่อพลิกคว่ำแล้วยังอยู่ในแนวระนาบ หรือทำให้ลำตัวเครื่องบิน รักษาตำแหน่งที่มั่นคง ลำตัวเครื่องนอนขนานราบไปกับพื้นได้
นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นถึงแผงที่นั่งบนเครื่องบิน ที่ได้รับการออกแบบทางวิศวกรรม เพื่อให้สามารถทนทานต่ออุบัติเหตุทางอากาศ โดยสังเกตว่าทั้งที่นั่งและเข็มขัดนิรภัย ช่วยปกป้องผู้โดยสารระหว่างการกระแทกได้เป็นอย่างดี
การออกแบบเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากปัจจัยหลายประการ
เหตุการณ์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีความปลอดภัย ที่พัฒนามาอย่างยาวนานของอุตสาหกรรมการบิน และทั้งหมดนี้อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิตน้อยที่สุด
ข้อมูลจาก
ที่มาข้อมูล : ASSOCIATED PRESS, CTV
ที่มารูปภาพ : ASSOCIATED PRESS, CTV