
นักธรณีวิทยาค้นพบหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคพิลบารา (Pilbara) ทางตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งมีอายุย้อนหลังไปถึง 3,470 ล้านปีก่อน
การศึกษาล่าสุดพบว่า หลุมอุกกาบาตแห่งนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 100 กิโลเมตร เกิดจากการพุ่งชนของหินอวกาศขนาดใหญ่ในช่วงเวลาที่โลกยังถูกปกคลุมด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่
การค้นพบครั้งนี้ทำให้สถิติหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก แซงหน้าหลุมอุกกาบาตยาราบับบา (Yarrabubba) ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งมีอายุประมาณ 2,229 พันล้านปี ซึ่งเคยได้รับการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้

สรุปข่าว
คริส เคิร์กแลนด์ (Chris Kirkland) จากมหาวิทยาลัยเคิร์ติน (Curtin University) หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า หลุมอุกกาบาตนี้อาจมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคแรก
เนื่องจากแรงกระแทกจากการพุ่งชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแร่ธาตุ และอาจก่อให้เกิดแหล่งน้ำร้อนอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
"แรงดันสูงที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตสามารถทำให้แร่ธาตุเปลี่ยนสภาพ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิต" เคิร์กแลนด์กล่าว พร้อมเสริมว่า หลุมอุกกาบาตอาจเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยให้จุลินทรีย์ยุคแรกสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2021 เคิร์กแลนด์และทีมงานค้นพบร่องรอยของหลุมอุกกาบาตนี้ภายในบริเวณที่เรียกว่า "โดมขั้วโลกเหนือ" (North Pole Dome) ซึ่งพบโครงสร้างหินที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า "กรวยแตก" (Shatter cones) ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้โดยตรงว่าเคยเกิดการชนของอุกกาบาตครั้งใหญ่
ทีมวิจัยกลับไปศึกษาพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้งในปี 2023 และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งออสเตรเลียตะวันตก (Geological Survey of Western Australia) ซึ่งยืนยันอายุของชั้นหินที่อยู่รอบหลุมอุกกาบาตว่าเก่าแก่ถึง 3,470 ล้านปี
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขนาดของหลุมอุกกาบาตและบทบาทของมันต่อวิวัฒนาการของโลก มาร์ก นอร์แมน (Mark Norman) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ให้ความเห็นว่า "แม้การค้นพบครั้งนี้จะน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าหลุมอุกกาบาตนี้มีขนาดใหญ่ตามที่คาดการณ์ไว้ หรือมีผลกระทบต่อกระบวนการวิวัฒนาการของโลกจริง ๆ"
แต่การค้นพบครั้งนี้ยังถือเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคแรกของโลก และอาจนำไปสู่การค้นพบหลุมอุกกาบาตโบราณเพิ่มเติมในอนาคต รายงานฉบับเต็มของการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล : Sharmila Kuthunur / Space.com
ที่มารูปภาพ : Chris Kirkland / Curtin University

พีรพรรธน์ เชื้อจีน