
นักวิจัยในสหราชอาณาจักร เผยผลการศึกษาล่าสุดที่ได้จากตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) พบร่องรอยของสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในตัวอย่างฝุ่นละอองสีดำ ที่ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) นำกลับมาจากภารกิจสำรวจ เมื่อปี 2023

สรุปข่าว
การค้นพบนี้เป็นหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนู อาจเป็นพาหะนำสารตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตมายังโลก ในสมัยที่โลกโดนดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนในช่วงที่ก่อกำเนิดใหม่ ๆ จนทำให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ ก่อนจะพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
สำหรับตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่ใช้ในการศึกษานี้ เป็นการศึกษาตัวอย่างที่มีปริมาณ 121.6 กรัม โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวอย่างเหล่านี้อาจจะอยู่มาตั้งแต่ช่วงการก่อตัวของระบบสุริยะเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน โดยอาจจะแยกตัวออกจากดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่า เมื่อช่วงราว 700 - 2,000 ล้านปีก่อน
โดยในการศึกษาครั้งนี้ พบตัวอย่างสารที่น่าสนใจ เช่น สารประกอบโมเลกุลอินทรีย์หลายพันชนิด ซึ่งรวมถึงกรดอะมิโนโปรตีน 14 ชนิดจาก 20 ชนิดที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตบนโลก และกรดอะมิโนที่ไม่ใช่โปรตีนอีก 19 ชนิดที่หายาก
รวมถึงนักวิจัยยังค้นพบ นิวคลีโอเบส (nucleobase) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และพบร่องรอยของเกลือแร่และแร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งบ่งชี้ว่าเคยมีน้ำอยู่บนดาวเคราะห์น้อยเบนนู ซึ่งเป็นไปได้ว่าเมื่อดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก น้ำและนิวคลีโอเบสเหล่านี้ ก็อาจทำให้เกิดการสร้างองค์ประกอบสำคัญ ของสิ่งมีชีวิตบนโลกได้
อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า มีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์น้อยเบนนูแต่อย่างใด และนักวิจัยก็ยังต้องทำการศึกษาต่อไปว่าองค์ประกอบที่ค้นพบ มีความใกล้เคียงกับสารในร่างกายของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราให้ถ่องแท้มากย่ิงขึ้น