
จีนประสบความสำเร็จในการทำให้ “ดวงอาทิตย์เทียม” สามารถรักษาสภาพของพลาสมาได้นานถึง 1,066 วินาที ทำลายสถิติเดิมในปี 2023 ที่ทำได้นาน 403 วินาที ความสำเร็จนี้ถือเป็นการสร้างสถิติโลกครั้งใหม่ และยังทำให้จีนขยับเข้าใกล้เป้าหมายการผลิตพลังงานฟิวชัน เพื่อการใช้งานจริงได้มากขึ้น

สรุปข่าว
“ดวงอาทิตย์เทียม” ที่ว่านี้ คือ เตาปฏิกรณ์ฟิวชัน อีส (EAST) ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมคที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อจำลองกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชันที่ให้พลังงานแก่ดวงอาทิตย์ โดยทำให้อะตอมของไฮโดรเจนรวมตัวกันภายใต้ความร้อนและแรงดันสูง เพื่อปลดปล่อยพลังงานมหาศาล
เตาปฏิกรณ์ฟิวชันนี้ เป็นผลงานการวิจัยของสถาบันฟิสิกส์พลาสมาในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุย ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างแหล่งผลิตพลังงานสะอาดแบบไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อนำไปทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ที่อาจจะหมดไปในไม่ช้า รวมถึงนำไปใช้ในภารกิจการสำรวจอวกาศนอกระบบสุริยะได้
สำหรับดวงอาทิตย์เทียม หรือเตาปฏิกรณ์ฟิวชัน อีส (EAST) ได้เปิดดำเนินการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2006 โดยนักวิจัยพยายามผลักดันขอบเขตของการทำงานของพลาสมาแบบพัลส์ที่อุณหภูมิสูง และแบบพัลส์ยาว อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการที่เตาปฏิกรณ์ สามารถรักษาสภาพของพลาสมาได้นานเกิน 1,000 วินาที ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่านักวิจัยประสบสำเร็จในการจำลองเงื่อนไขที่จำเป็นของดวงอาทิตย์เทียมสำหรับโรงไฟฟ้าฟิวชันในอนาคต เพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เตาปฏิกรณ์ฟิวชัน อีส (EAST) ได้สร้างสถิติความก้าวหน้าหลายครั้ง เช่นในปี 2012 ทำสถิติรักษาสภาพพลาสมาได้นาน 30 วินาที ส่วนปี 2016 ขยับเพิ่มมาเป็น 60 วินาที ปี 2023 ทำได้ถึง 403 วินาที และปี 2025 ที่ทำได้ถึง 1,066 วินาทีในที่สุด
นักวิจัยกล่าวว่าผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับการพัฒนาดวงอาทิตย์เทียม ที่จะปูทางไปสู่การใช้งานด้านวิศวกรรม เพื่อเป็นทางเลือกด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษยชาติ
ที่มาข้อมูล : reutersconnect, apvideohub
ที่มารูปภาพ : reutersconnect, apvideohub