ปภ. เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.)  เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกบริเวณประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับรู้แรงสั่นสะเทือน และหลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย 

พื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรวมจำนวน 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด

ปัจจุบัน มีรายงานพื้นที่รับรู้แรงสั่นสะเทือนรวมจำนวน 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลําพูน ลําปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และชัยนาท รวม 129 อำเภอ 383 ตำบล 651 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,004 หลัง วัด 82 แห่ง โรงพยาบาล 164 แห่ง อาคาร 19 แห่ง โรงเรียน 69 แห่ง สถานที่ราชการ 46 แห่ง และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 36 ราย (กรุงเทพมหานคร 35 ราย จ.นนทบุรี 1 ราย) และผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22 ราย ทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

ปภ. เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว

สรุปข่าว

ปภ. ติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว เน้นย้ำให้ทุกจังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้มีความเป็นปัจจุบัน รวมถึงพิจารณาการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด

ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือ

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างครอบคลุม ครบถ้วน และรวดเร็วที่สุด

สำหรับการดำเนินการแก้ไขและให้ความช่วยเหลือประชาชนของกรุงเทพมหานคร เรื่องการแก้ไขสภาพการจราจรในพื้นที่ ปัจจุบัน (3 เม.ย. 68) ได้เปิดเส้นทางจราจรถนนกำแพงเพชร 2 ฝั่งขาเข้า ฝั่งอาคาร สตง. จำนวน 1 เลน ซึ่งเป็นถนนหน้าจุดเกิดเหตุอาคารถล่ม ส่วนฝั่ง JJ Mall เปิดการจราจรปกติ สำหรับการตรวจสอบอาคาร มีประชาชนแจ้งเหตุตรวจสอบอาคารผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue รวม 17,112 เคส ดำเนินการตรวจสอบอาคารแล้ว พบ อาคารสีเขียวที่มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามปกติ จำนวน 13,570 เคส 

ในส่วนการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารถล่ม วันนี้หน้างานจะไม่ใช้เครื่องจักรหลักและเครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเสียงและสั่นสะเทือนในบริเวณหน้างาน เนื่องจากเมื่อคืนเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าถึงโซน B และได้ยินเสียงจากภายใน จึงวางแผนการทำงาน ปรับพื้นที่และจัดโซนนิ่งใหม่ เพื่อบริหารจัดการเจ้าหน้าที่ให้เข้าปฏิบัติงานให้เป็นสัดส่วน และจะค้นหาผู้รอดชีวิตและเสียชีวิตที่ติดอยู่ภายในอาคารอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ได้มีการปฏิบัติตามข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 15 อำเภอ 57 ตำบล 147 หมู่บ้าน 3 ชุมชน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 394 หลัง โรงพยาบาล 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง โรงเรียน 30 แห่ง อาคารของส่วนราชการ 10 แห่ง วัด 8 แห่ง ส่วนการให้ความช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สำรวจและให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ 

สำหรับสถานที่ราชการ วัด โบราณสถาน สิ่งก่อสร้างสาธารณะ ผู้ประกอบการ โรงแรม อาคารเอกชน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการ ปัจจุบันจังหวัดเชียงราย กำลังจัดทำประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) และจะประสานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย รวม 23 อำเภอ 79 ตำบล บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 224 หลัง ผลการตรวจสอบอาคาร สถานที่สำคัญ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยสามารถใช้งานได้ตามปกติ 136 แห่ง 

ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและเต็มกำลัง

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารสูง บ้าน โรงพยาบาล โรงเรียน วัด โบราณสถาน และสถานที่สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่จะเร่งดำเนินการตามประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน (แผ่นดินไหว) ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสะเมิง และอำเภอกัลยานิวัฒนา

ด้านนายจำนง สวัสดิ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า กอปภ.ก. ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและเต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบอาคารบ้านเรือนประชาชน อาคารต่าง ๆ โรงพยาบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้แก่ประชาชน พร้อมขอเน้นย้ำให้ 18 จังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ให้มีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรอบด้าน รวดเร็ว และเป็นธรรม 

นอกจากนี้ หากจังหวัดต้องการขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมให้รีบประสานมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการต่อไป

avatar

ศิริพร บุญเถื่อน