
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้าง นอกจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในช่วงแผ่นดินไหวแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นตามมาได้ โดยกรมทรัพยากรธรณี เปิดข้อมูล 5 ปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่อาจเกิดขึ้นได้ในทั่วโลกหลังแผ่นดินไหวดังนี้
1. แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)
แผ่นดินไหวตามเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวหลัก จากการปรับตัวของเปลือกโลกที่ได้รับแรงเครียดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่แผ่นดินไหวตามก็อาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก
2. หลุมยุบ (Sinkhole)
แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจกระตุ้นให้โพรงใต้ดินยุบตัวลง จนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นดินหรือหินปูนที่ละลายน้ำได้ง่าย เช่นในบางพื้นที่ของภาคใต้ของประเทศไทย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อปี 2547 ได้มีรายงานว่าหลุมยุบเกิดขึ้นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม

สรุปข่าว
3. ทรายพุ (Liquefaction)
ปรากฏการณ์ทรายพุ หรือที่เรียกกันว่า “ทรายเดือด” เกิดขึ้นเมื่อดินที่มีน้ำแทรกซึมอยู่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนสูญเสียความแข็งแรง ส่งผลให้ตะกอนทรายที่อยู่ใต้พื้นดินเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ผิวดินในลักษณะของโคลนเหลว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหรือถนนที่อยู่ด้านบนทรุดตัวลง
4. แผ่นดินถล่ม (Landslide)
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาหรือเชิงเขา อาจทำให้ดินหรือหินที่ไม่มั่นคงเกิดการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ปรากฏการณ์นี้สามารถทำลายบ้านเรือน เส้นทางสัญจร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านล่างได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมฉับพลันหากดินถล่มลงไปกั้นทางน้ำ
5. น้ำใต้ดินเปลี่ยนสี (น้ำบาดาล พุน้ำร้อน น้ำผุด)
เกิดจากแรงสั่นสะเทือนในชั้นดินที่มีตะกอนโคลนและทรายอยู่ใต้ดินถูกพัดเข้ามาผสมกันน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำมีสีขุ่นผิดปกติ และจะค่อยๆ กลับคืนสู่สภาพปกติได้เมื่อตกตะกอนและชั้นน้ำใต้ดินกลับสู่สภาวะสมดุล
ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวจะมีระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็อาจส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเตรียมพร้อมในการรับมืออยู่เสมอแต่ต้องไม่ตื่นตระหนก เพื่อลดการสูญเสียให้น้อยลง
ที่มาข้อมูล : กรมทรัพยากรธรณี
ที่มารูปภาพ : Envato

วาสนา ชูติสินธุ