5 ปรากฏการณ์ควรรู้ หลังเกิดแผ่นดินไหว

เพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรธรณี โพสต์ธรณีวิทยาน่ารู้ : ปรากฏการณ์หลังเกิดแผ่นดินไหวที่ควรรู้ โดยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อันตรายไม่ได้จบลงทันทีหลังแรงสั่นสะเทือนสงบลง แต่แผ่นดินไหวยังส่งผลกระทบตามมาอีกหลายอย่างที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายเพิ่มเติมได้ ทำความรู้จักกับ 5 ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

5 ปรากฏการณ์ควรรู้ หลังเกิดแผ่นดินไหว

สรุปข่าว

กรมทรัพยากรธรณี เผย 5 ปรากฏการณ์ควรรู้ ที่เกิดขึ้นตามมาหลังแผ่นดินไหว แนะวิธีลดความเสี่ยง และเตรียมพร้อมรับมือ

แผ่นดินไหวตาม (Aftershock) : เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหวหลัก จากการปรับตัวของเปลือกโลกที่ได้รับแรงเครียดจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่แผ่นดินไหวตามก็อาจก่อให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนครั้งแรก

- หลุมยุบ (Sinkhole) : แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจกระตุ้นให้โพรงใต้ดินยุบตัวลง จนเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีชั้นดินหรือหินปูนที่ละลายน้ำได้ง่าย เช่นในบางพื้นที่ของภาคใต้ของประเทศไทย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อปี 2547 ได้มีรายงานว่าหลุมยุบเกิดขึ้นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม

- ทรายพุ (Liquefaction) : หรือที่เรียกกันว่า "ทรายเดือด" เกิดขึ้นเมื่อดินที่มีน้ำแทรกซึมอยู่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนสูญเสียความแข็งแรง ส่งผลให้ตะกอนทรายที่อยู่ใต้พื้นดินเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ผิวดินในลักษณะของโคลนเหลว ทำให้สิ่งปลูกสร้างหรือถนนที่อยู่ด้านบนทรุดตัวลง

- แผ่นดินถล่ม (Landslide) : แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภูเขาหรือเชิงเขา อาจทำให้ดินหรือหินที่ไม่มั่นคงเกิดการเคลื่อนตัว ส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ปรากฏการณ์นี้สามารถทำลายบ้านเรือน เส้นทางสัญจร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ด้านล่างได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมฉับพลันหากดินถล่มลงไปกั้นทางน้ำ

- น้ำใต้ดินเปลี่ยนสี (น้ำบาดาล พุน้ำร้อน น้ำผุด) : เกิดจากแรงสั่นสะเทือนในชั้นดินที่มีตะกอนโคลนและทรายอยู่ใต้ดินภูกพัดเข้ามาผสมกับน้ำใต้ดิน ทำให้น้ำมีสีขุ่นผิดปกติ และจะค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติได้เมื่อตะกอนตกตะกอนและชั้นน้ำใต้ดินกลับสู่สภาวะสมดุล

แผ่นดินไหวอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการเกิดขึ้น แต่ผลกระทบอาจอยู่นานกว่าที่คิด จึงควรตระหนักถึงความเสี่ยง และเตรียมพร้อมรับมือ โดยวิธีลดความเสี่ยงจากปรากฏการณ์หลังแผ่นดินไหว 

-หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารที่ได้รับความเสียหายหลังแผ่นดินไหว เพราะอาจพังถล่มลงมาได้หากเกิดแผ่นดินไหวตาม

-ตรวจสอบพื้นดินและบริเวณโดยรอบ หากพบรอยแยกหรือการทรุดตัวผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

-หากอยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเขา ให้ระมัดระวังดินถล่ม โดยสังเกตสัญญาณเตือน เช่น มีรอยดินแตกร้าว น้ำบนภูเขาเปลี่ยนสี หรือเสียงดังจากใต้ดิน

-ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือกรมทรัพยากรธรณี เพื่อรับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง


แผ่นดินไหวภัยพิบัติธรรมชาติที่ไม่สามารถพยากรณ์ หรือมีการแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า แต่สามารถเรียนรู้ และเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันความสูญเสียได้

ที่มาข้อมูล : กรมทรัพยากรธรณี

ที่มารูปภาพ : Canva

avatar

จิตฤดี บรรเทาพิษ