
นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมายืนยันว่า กระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาแนวทางการดำเนินการและเชื่อว่าสามารถเริ่มใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครบทุกสี-ทุกสายภายใน ก.ย. 68 แน่นอน

สรุปข่าว
นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม** กล่าวย้ำเช่นกันว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดการณ์ที่ประกาศไว้ โดยขณะนี้ได้ผลักดัน พ.ร.บ. ตั๋วร่วม เข้ารับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะทำให้เกิดนโยบายค่าโดยสารร่วมกัน โดยคาดว่า กฎหมายตั๋วร่วมผ่านการพิจารณาสภาผู้แทนราษฏรและบังคับใช้ได้ทันเดือนกันยายน 2568
"เราก็ใช้เรื่อง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมเข้ามากำหนดราคาค่าโดยสารร่วมและจะไม่มีเรื่องของค่าแรกเข้า เพราะประชาชนเข้ามาแล้วออกตรงไหน ใช้รถไฟฟ้าสายอะไรก็จะ 20 บาทตลอดสายทันที"
นายกฤชนนท์ กล่าวว่า ในเดือนกันยายนเมื่อ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมออกมาบังคับใช้ ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆ ก็จะผลักดันให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ส่วนที่หลายคนกังวลเรื่องงบประมาณว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้สนับสนุนนโยบาย ซึ่งในเรื่องนี้เราพบว่า ผลการดำเนินการนโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสีม่วง ได้ผลออกมาดีมีคนใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าประชาชนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น การอุดหนุนทางงบประมาณต่างๆจะลดลง
"ที่ผ่านมาผลการดำเนินการรถไฟฟ้า 20 บาทกับสายสีแดง และสีม่วงในเดือนตุลาคมปี 2566 จะเห็นว่าประชาชนใช้เพิ่มมากขึ้น จึงมีการคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีครึ่ง หรือ 3 ปี ก็จะสามารถคุ้มทุนได้ ทำให้เราเชื่อว่านโยบาย 20 บาททุกสีทุกสายสามารถทำได้"
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สภาผู้บริโภค จัดเวที "เปิด พ.ร.บ. 'ตั๋วร่วม' ความหวังผู้บริโภคบริการ ขนส่งมวลชนไม่เกินร้อยละ 10 ทั่วประเทศ" โดยมี 12 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนของผู้บริโภค เข้าร่วม
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค** กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนระบบขนส่งสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึง ราคาเป็นธรรมมีค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ โดยการพัฒนาดังกล่าวต้องเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ที่ประชุมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พรรคการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นร่วมกันในการมีประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการนโยบายตั๋วร่วม จึงอยากให้ พ.ร.บ. ตั๋วร่วมเป็นเครื่องมือในการใช้บริการของผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทุกระบบ โดยสภาผู้บริโภคจะจัดทำข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับข้อเสนอสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ของสภาผู้บริโภค มีดังนี้
1. ยืนยันสิทธิการมีผู้แทนผู้บริโภค โดยกำหนดให้ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพื่อความเป็นธรรม ความเสมอภาค และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และมีความเหมาะสมในฐานะผู้แทนผู้บริโภค
2. เพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 5 คน และขอให้เพิ่มสัดส่วนผู้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการเงิน ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ (Public Transportation User Group) เข้าเป็นคุณสมบัติเฉพาะของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้งเพิ่มเติม
3. กำหนดนิยามความหมาย "มาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม" ให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นสาระสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะไทยในอนาคต
4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราค่าโดยสารสูงสุด ค่าโดยสารร่วม โดยคำนึงถึงการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และการไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
5. เพิ่มบทบาทหน้าที่ผู้ได้รับใบอนุญาตในการคุ้มครองผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ
6. ยกเว้นอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกราย เพื่อเป็นแรงจูงใจและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะเข้าให้บริการขนส่งในระบบตั๋วร่วมโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการและผลักภาระให้กับผู้บริโภค
ที่มาข้อมูล : สภาผู้บริโภค
ที่มารูปภาพ : สภาผู้บริโภค