
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศตคม.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซนเตอร์ ครั้งที่ 2 โดยมี เอกอัครราชทูต 5 ประเทศ , ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต 18 ประเทศ , สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security Investigations, HSI) ร่วมประชุม
พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการแจ้งผลการปฏิบัติภายหลังการประชุมร่วมกันในครั้งแรก โดยได้มีการดำเนินการตาม 7 มาตรการเข้มของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการซักถามคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อป้องกันผู้ที่ถูกหลอกลวงข้ามแดนไปยังฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งพบว่ามาตรการดังกล่าวเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวสัญชาติต่างๆ จำนวน 58 คน ที่เปลี่ยนใจไม่เดินทางไปยัง อ.แม่สอด ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลไทย ในการตัดไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต-น้ำมันเชื้อเพลิง ไปยังฝั่งเมียวดี พบว่าสามารถกดดันแก๊งคอลเซนเตอร์อย่างได้ผล มีการปล่อยตัวคนกลับออกมาจำนวนมาก และสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้บางส่วน ซึ่งสถานทูตประเทศต่างๆ ชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น
และในที่ประชุมยัง ได้กล่าวถึง การส่งตัวเหยื่อคอลเซนเตอร์กลับประเทศต้นทาง จะต้องผ่านกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย โดย พล.ต.อ.ธัชชัย เผยว่า เนื่องจากว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และยังไม่เคยเกิดกระบวนการคัดกรองเหยื่อส่งกลับประเทศ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าง กรณีผู้นำทหารกะเหรี่ยง D.K.B.A. ฝั่งเมียนมา นำส่งเหยื่อค้ามนุษย์ลอตใหญ่ หลายสัญชาติ จำนวน 260 ราย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 หลังปฏิบัติการตัดวงจรแก๊งคอลเซนเตอร์ ขณะนี้ทั้งหมด 260 คนอยู่ในระหว่างกระบวนการ NRM เพื่อพิสูจน์ว่าใครคือเหยื่อหรือเป็นผู้ร่วมขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งหลังจากที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้วก็จะให้สถานทูตแต่ละประเทศตัดสินใจว่าจะส่งตัวกลับอย่างไร ทั้งนี้คาดว่ามีกระบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่อยู่ในกระเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 10,000 คน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ด้านการสอบสวนดำเนินคดี ระบุว่า หลังจากที่เกิดคดี “หวังชิง” ได้ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆเพื่อสืบสวนขยายผลและได้จับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้องทั้งในคดีของหวังชิง โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทางการจีนได้รับตัว ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการหลอกลวงกลับประเทศจำนวน 10 คน ซึ่งเป็นคนจีนทั้งหมด และได้ยังร่วมมือกับทางการประเทศญี่ปุ่นในการจับกุมผู้หลอกลวง และอยู่ระหว่างการขยายผลในคดีอื่นเพิ่มเติม

สรุปข่าว