
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาปศุสัตว์ของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต คุณภาพ และการแข่งขันกับต่างประเทศ พร้อมป้องกันการระบาดรุนแรงของโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร
โดยได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อควบคุมโรคลัมปี สกินในโค กระบือ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เพื่อดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จำนวน 7,850,000 โดส ในปี 2568 จ.เชียงราย เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับวัคซีนจำนวนกว่า8หมื่นโดส ครอบคลุมจำนวนประชากรโคและกระบือทั้งจังหวัด
รวมทั้งเป็นพื้นที่นำร่องการสร้างพื้นที่ปลอดโรค (Regionalization) และการสร้างคอกกักเพื่อการส่งออก ตามแผนของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้ จะมีการจัดสรรวัคซีนครั้งที่ 2 ที่ จ.ตาก ในวันที่ 28 ก.พ. 68 และกระจายไปยังจังหวัดอื่น ทั่วประเทศไทยต่อไป

สรุปข่าว
นายอนุกูลกล่าวต่อไปว่า โรคระบาดในสัตว์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคลัมปี สกิน ดังนั้น การป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพไม่ให้มีการเกิดโรคภายในประเทศ ร่วมกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคลัมปี สกินให้กับโค กระบือในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ต่างประเทศยอมรับและเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งเจรจาเปิดตลาดส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) หากสำเร็จจะช่วยกระตุ้นราคา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ เช่น สหกรณ์โคนม/ศูนย์รับน้ำนม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นายอนุกูล ระบุ