
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period) โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานีต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อพุทธศักราช 2535
สำหรับการประกาศดังกล่าวได้ลงนาม รับรองโดย Ms. Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติ (UNESCO) เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี
อ่านข่าว เปิดตำนาน "ภูพระบาท" มรดกโลก สะท้อนศรัทธาแห่ง "สีมา" ยุคทวารวดี

สรุปข่าว
โดยภายในงานมีกิจกรรมและการแสดงมากมาย อาทิ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน จากชุมชนไทพวน อำเภอบ้านผือ พิธีปลูกต้นรวงผึ้ง เฉลิมพระเกียรติ พิธีติดตั้งตราสัญลักษณ์มรดกโลก และป้ายส่งเสริมการท่องเที่ยว พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โบราณสถานหอนางอุสา การแสดงละครตำนานภูพระบาท เรื่อง "อุสา - บารส" โขนรามเกียรติ์ ตอน "สุครีพถอนต้นรัง “การขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกนับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยและประชาชนทุกคน
สะท้อนถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทยในระดับสากล รัฐบาลเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ยกระดับศักยภาพของประเทศ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” นางสาวศศิกานต์ ระบุ
ประวัติ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
เป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 2,500-3,000 ปี และร่องรอยการใช้เป็นศาสนสถานอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง เอกลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท คือ "หอนางอุสา" โขดหินขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายเห็ดบนลานหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีการปักใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ล้อมรอบทั้ง 8 ทิศ
ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2567 เป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่าง ๆ ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง ได้แก่ - พระพุทธบาทบัวบก อยู่ในวัดพระพุทธบาทบัวบก สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463–2477 บัวบกนี้จะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า
“บ่บก” ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกลงไปในพื้นหินประมาณ 60 เซนติเมตร ยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี - พระพุทธบาทหลังเต่า อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลงไปในพื้นหิน ลึก ๒๕ เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัวกลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเหตุที่พระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”
อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ที่มาข้อมูล : รัฐบาล
ที่มารูปภาพ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)