
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล เตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไข้หวัดระบาดที่ระบาด อยู่บางจังหวัด หลังพบการระบาดของโรคประจำฤดูกาล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน พบสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2568 ใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9
ทั้งนี้ มีผู้ป่วยสะสมพุ่งสูงเป็น 6,938 ราย และปีนี้มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 3 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2568
โดยจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 3,719 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย รองลงมา คือ จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1,753 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 800 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 666 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 - 9 ปี รองลงมาคือ เด็กอายุ 4 ปี และอายุ 3 ปี ตามลำดับ
สถานการณ์การระบาดโรคไข้เลือดออก
จากคาดการณ์ทางสถิติพบว่า ปี 2568 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลง โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2568 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 3,550 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.37 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 4.8 เท่า
กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มเด็กวัยเรียน คือ กลุ่มอายุ 5 – 14 ปี รองลงมาคือ 15 – 24 ปี และพบผู้ป่วยสูงทางภาคใต้ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง และนราธิวาส ตามลำดับ
ในส่วนของผู้เสียชีวิตพบว่า มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยปัจจัยเสียชีวิตหลักยังคงเป็นภาวะอ้วน และการได้รับยากลุ่ม NSAIDs

สรุปข่าว
“รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดอย่างเต็มศักยภาพ เน้นย้ำให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่กำลังมีการระบาดในขณะนี้
หากอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายได้ในทุกเพศทุกวัย และมักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร หรือสถานที่ทำงาน ส่วนการระบาดโรคไข้เลือดออกถึงแม้สถานการณ์การระบาดจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนต้องระมัดระวังโดยเฉพาะพี่น้องชาวใต้ ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดในหลายจังหวัด” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
อ่านข่าว โรคไข้หวัดใหญ่ ภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
อาการของไข้หวัดใหญ่
-มีไข้
-ไอ เจ็บคอ
-คัดจมูก มีน้ำมูก
-ครั่นเนื้อครั่นตัว
-อ่อนเพลีย หรือเหนื่อยมากขึ้น
-ปวดศีรษะ
-หนาวสั่น
-ปวดเมื่อยตามร่างกาย
โรคไข้หวัดใหญ่มาจากไหน?
-ผู้ป่วยไอหรือจาม ละอองฝอยขนาดเล็กของน้ำลายหรือน้ำมูกจะล่องลอยในอากาศ และปลิวเข้าสู่ปากหรือจมูกของผู้ที่อยู่ใกล้ หากสูดหายใจเข้าไป ทำให้ละอองฝอยเล็กๆ เหล่านี้ลงสู่ปอดได้
-มือสัมผัสถูกน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะ เสื้อผ้า เมื่อไม่ได้ล้างมือให้สะอาดแล้วใช้มือจับจมูกและปากของตนเอง ทำให้สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
3. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หากไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์เจล (Alcohol Gel) สำหรับล้างมือแทน
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปาก เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ตามช่องทางเหล่านี้
5. ควรใส่หน้ากากอนามัย
ที่มาข้อมูล : รัฐบาล/โรงพยาบาลศิริราชฯ
ที่มารูปภาพ : Getty Images