
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถานศึกษาต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทักษะฝีมือบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สอดรับกับนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศให้ “ปี 2568 เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว”
สำหรับโครงการดังกล่าว จะช่วยพัฒนาทักษะแรงงานด้านนี้ได้ 100,000 คน กระจายไปสู่ 62 จังหวัด สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศได้ โดยกลุ่มเป้าหมายแรงงานที่จะเข้ารับการอบรมมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. แรงงานที่ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น กลุ่มพนักงานในโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น 2. กลุ่มนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และ 3. กลุ่มแรงงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและบริการ เช่น แม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ เป็นต้น

สรุปข่าว
สำหรับหลักสูตรอบรมประกอบด้วย 3 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 18 ชั่วโมง จำนวน 3,000 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวม 60,000 คน ฝึกอบรมแบบ Online จำนวน 2 วัน แบบ Onsite จำนวน 1 วัน และการฝึกอบรมท่องเที่ยวและบริการหลักสูตร 30 ชม. จำนวน 500 รุ่น ๆ ละ 20 คน รวม 10,000 คน ฝึกอบรมแบบ Online 3 วัน แบบ Onsite จำนวน 2 วัน
ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรม ต้องเข้าอบรม Online ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting เมื่อเข้าอบรมครบตามวันที่กำหนดแต่ละหลักสูตร จะสามารถเข้าเรียน Onsite ตามสถานที่ที่กำหนดไว้ในแต่ละจังหวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด หรือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โทรศัพท์ 0-2245-1707 นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษ ในรูปแบบ e-learning ระยะเวลา 30 ชั่วโมง จำนวน 30,000 คน ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ จะได้รับใบประกาศ CEFR จากสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เข้าอบรมตามกรอบมาตรฐานสากล (Common European Framework of Reference for Languages – CEFR)
“การพัฒนาศักยภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวภูมิภาค และสามารถยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้” นายคารม กล่าว