
เพจเฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ไมโครพลาสติก’
โดยระบุว่า เราคงเคยเห็นข่าว‘ไมโครพลาสติก’ปนเปื้อนในสัตว์ทะเลที่คนไทยกินเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา หมึก ฯลฯ เป็นประจำ แต่งานวิจัยล่าสุดจาก Journal of Clinical Medicine ตรวจเจอ “ไมโครพลาสติก” ในน้ำนมแม่ของคนไทย
ทำไมถึงมาอยู่ในนมแม่ได้ ?
ไมโครพลาสติกมันก็คือเศษพลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว ที่เกิดจากการเสียดสี การแตกสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำ หรือพลาสติกที่ผลิตมาขนาดเล็กตั้งแต่แรก อย่างพวกไมโครบีดส์ที่เอาไว้ผสมในเครื่องสำอาง ซึ่งมันเล็กมากจนเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แล้วมันก็สามารถแทรกซึมเข้าไปในร่างกายของเราได้ง่ายๆ ผ่านทางอาหาร น้ำ หรือแม้แต่การหายใจ เพราะตั้งแต่ตื่นยันนอน เราก็ใช้แต่พลาสติก

สรุปข่าว
นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างน้ำนมจากคุณแม่หลังคลอด 59 คน โดยเฉลี่ยแล้วคุณแม่กลุ่มนี้มีอายุ 28.13 ปี ถือว่ายังวัยรุ่น จากนั้นเอามาตรวจด้วยเทคนิค Raman micro-spectroscopy ปรากฏว่า
- 38.98% ของตัวอย่างมีไมโครพลาสติก แทบจะครึ่งต่อครึ่ง!
- ชนิดของพลาสติกที่เจอ: ส่วนใหญ่เป็นโพลีโพรพิลีน (PP), โพลีเอทิลีน (PE), โพลีสไตรีน (PS) และโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งมันก็คือพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี่แหละครับ! ตั้งแต่ถุงพลาสติกจนถึงกล่องใส่อาหาร
- คุณแม่ที่มีไมโครพลาสติกในน้ำนม มักจะมีปัญหาสุขภาพระหว่างให้นมลูก เช่น ท่อน้ำนมอุดตันมากกว่าคุณแม่ที่ไม่มีไมโครพลาสติก
- พวกจุลชีพในนมแม่ก็พบว่าแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่เจอปนเปื้อนจะมีแบคทีเรียบางชนิด (Staphylococcus และ Streptococcus) มากกว่า
งานวิจัยนี้เตือนเราว่า ชีวิตประจำวันของเราใช้พลาสติกมากเกินไปจนแทรกซึมเข้ามาอยู่ในร่างกายเราจนได้ เข้ามาอยู่ในนมแม่ก็มี เราอาจต้องจริงจังในการ
- ลด ละ เลิก เลี่ยง การใช้พลาสติก: พยายามใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เลี่ยงผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีไมโครบีดส์
- ดูแลสุขภาพ: กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- ติดตามข่าวสาร: ติดตามงานวิจัยใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติก เพื่อให้รู้เท่าทันภัยร้ายและป้องกันตัวเองได้อย่างถูกต้อง หรือติดตามเพจนี้เอาไว้
สรุป: ถึงแม้ว่านมแม่จะมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยอยู่ดีครับ ต้องให้ลูกกินต่อไป เพราะนมแม่มีประโยชน์เหนืออื่นใด สิ่งที่เราทำได้คือพยายามลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนให้มากที่สุด และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ไมโครพลาสติก (Microplastic) คืออะไร
ไมโครพลาสติก คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่เกิดจากการ ย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้ เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่ นอน ประกอบด้วยอะตอมธาตุคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) มาเชื่อมต่อกันกลายเป็นสายพอลิเมอร์ (Polymer)
นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ ด้วย เช่น phthalates, polybrominated diphenyl ethers (PBDEs) และ tetrabromobisphenol A (TBBPA)
ไมโครพลาสติกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์ เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทาความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียก กันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดสครับ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม ทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้าและไหลลงสู่ทะเล
2. Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อย สลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก ด้วยกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical Degradation) การแตกตัวด้วยแสง (Photo-Fragmentation) การแตกตัวด้วยความร้อน (Thermal-Degradation) การย่อยสลายด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation Degradation) การย่อยสลายด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส (Hydrolytic Degradation) รวมถึงการย่อยสลายทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์ (Bio-
Degradation)
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก เช่น ยางรถเสียดสีไปกับพื้นถนนหรือเบรกแรงๆ ก็จะเกิดความสึกหรอของผิวหน้ายางและปล่อยไมโครพลาสติกออกมา เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : หมอแล็บแพนด้า / สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2
ที่มารูปภาพ : AFP/Getty Images